“กลุ่มโฮมฮัก” ตั้งขึ้นโดยแกนนำผู้หญิงจากชุมชนตำบลจานลาน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพโดยแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ และมีการชักชวนให้พ่อแม่ ผู้ปกครองในชุมชนมีการรวมกลุ่มกันขึ้น ทำงานแก้ไขปัญหา สถานการณ์ความเสี่ยงเรื่องเพศและการตั้งครรภ์ของเยาวชน โดยเริ่มจากกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อสำรวจสภาพปัญหา ทัศนคติ และทางออกของคนในชุมชนต่อปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ในพื้นที่ 5 หมู่บ้านนำร่อง และทำงานเข้มข้นใน 3 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 18 หมู่บ้านของตำบลจานลาน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ ผลการวิจัย พบว่าสถานการณ์ตั้งครรภ์ไม่พร้อมในพื้นที่การทำงาน ระหว่างปี 2556-2557 มีเยาวชนอายุระหว่าง 13-15 ปีที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ในวัยเรียน มากถึง 32 คน จาก 18 หมู่บ้าน เนื่องจากขาดข้อมูลความรู้เรื่องการป้องกัน และไม่มีทางเลือกในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้พ่อแม่ส่วนใหญ่ ยังมีทัศนคติด้านลบและขาดทักษะการพูดคุยรับฟังปัญหากับลูก ส่งผลให้เยาวชนหญิงที่ตั้งครรภ์ในระหว่างเรียน ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาคลอดและเลี้ยงลูก ทำให้สูญเสียโอกาสด้านการศึกษาและการดำเนินชีวิตวัยรุ่น ขณะที่เยาวชนบางรายต้องออกจากชุมชนเพื่อไปคลอดลูกที่อื่น และหางานทำนอกชุมชน
การทำงานที่ผ่านมา โฮมฮัก มีกระบวนการทำงานเชิงลึกกับกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกหลานประสบปัญหาท้องไม่พร้อมหรือมีความเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหา โดยการจัดกลุ่มพูดคุยกับพ่อแม่ ผู้ปกครองในชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ หรือที่เรียกในภาษาถิ่นกันว่า “วงโสเหล่” เป็นการนั่งล้อมวงพูดคุยถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น แบ่งปันถึงความห่วงใยต่อลูกหลานเยาวชน สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการพูดคุย แลกเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร วิธีการดูแลลูกหลานของแต่ละครอบครัว รวมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย เช่น ทัศนคติต่อเรื่องเพศ การปรับท่าทีในการแสดงออกต่อลูกหลานเมื่อพบว่าลูกหลาน เยาวชน พกถุงยางอนามัย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับว่าเป็น “จุดคลิ๊ก” ของการทำงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนและเห็นผลค่อนข้างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อท้าทายและช่องว่างบางประการ ที่จำเป็นต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ในอีก 20 เดือนข้างหน้า (สิงหาคม 2559 – มีนาคม 2561) กลุ่มโฮมฮักจึงเน้นการทำงานพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งแกนนำเยาวชนและแกนนำพ่อแม่ ผู้ปกครองในชุมชน, ขยายพื้นที่การทำงานไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ ตลอดจนการทำงานเชื่อมโยงกับกลไกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อ ลดปัญหาการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นตำบลจานลาน ตลอดจนวัยรุ่นและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น