ข้อมูลแผนงาน

แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ

Women’s Wellbeing and Gender Justice Program

คือแผนการทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม มุ่งให้สังคมไทยมีความเป็นธรรมทางเพศมากขึ้น และผู้หญิงในสังคมไทยสามารถเข้าถึง “สุขภาวะ” ได้มากขึ้น ดำเนินงานภายใต้สมาคมเพศวิถีศึกษา โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เริ่มดำเนินงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 และนับตั้งแต่ปี 2559 แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ ดำเนินงานโดยมีจุดเน้นที่การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงบนฐานเพศ

สังคมไทยปลอดภัยจากความรุนแรงบนฐานเพศ และผู้หญิงทุกกลุ่มเข้าถึงสุขภาวะ

เป้าประสงค์

ในระยะการดำเนินงานระหว่าง ปี 2559 – 2561 แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ มีเป้าประสงค์หลักของการดำเนินงานในประเด็นความรุนแรงบนฐานเพศ ดังนี้

1

หน่วยงานที่มีบทบาทในการผลิตหรือเสริมศักยภาพนักวิชาชีพ มีการเรียนการสอนหรือฝึกอบรมความรู้และทักษะการทำงานแก้ไขปัญหาความรุนแรงบนฐานเพศที่มีประสิทธิภาพ

2

หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงบนฐานเพศในระดับพื้นที่ มีการบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ รอบด้าน และครบวงจร

3

งานสื่อสารและรณรงค์ประเด็นความรุนแรงบนฐานเพศได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเป้าหมายได้

นอกจากนี้ แผนงานฯ ยังมีพันธกิจเสริมด้านการหนุนเสริมโครงการย่อยในกลุ่มโครงการสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ (ภาคีเดิมของแผนงานฯ) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ให้ดำเนินการได้สำเร็จลุล่วง และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

แนวทางการดำเนินงาน

แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ เน้นการทำงานกับภาคีเครือข่ายในฐานะผู้เอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศในสังคมไทย ผ่านกิจกรรมการเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งด้านต่าง ๆ ให้กับบุคคลและองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เพื่อให้บุคคลและองค์กรสามารถเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลง (Change agents) และสนับสนุนให้ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำศักยภาพและความเข้มแข็งไปพัฒนาการทำงานของตนเอง หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการให้บริการและการทำงานเพื่อสังคม นอกจากนี้ แผนงานฯ ยังให้ความสำคัญกับงานสื่อสารและรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมของสาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงบนฐานเพศ เพื่อผลบั้นปลายที่จะลดความไม่เป็นธรรมทางเพศในสังคม และทำให้ผู้หญิงเข้าถึงสุขภาวะ

แนวคิดหลัก

สุขภาวะผู้หญิง

(Women’s wellbeing)

หมายถึง ภาวะที่ผู้หญิงมีความสุข มีประสบการณ์ชีวิตเชิงบวก และมีศักยภาพในการรับมือกับข้อท้าทายหรือสถานการณ์ปัญหาในชีวิต สุขภาวะในที่นี้ประกอบด้วย 4 มิติหลัก ได้แก่ สุขภาวะทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นองค์รวมและสมดุล

ความเป็นธรรมทางเพศ

(Gender and sexual justice)

ในแผนงานฯ นี้ หมายถึง ภาวะทางสังคมที่เอื้อให้บุคคลเพศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของสังคม ทั้งหญิง ชาย และเพศอื่น ๆ สามารถเข้าถึงโอกาส บริการ และสวัสดิการในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม และได้รับการประกันและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยไม่ถูกละเลย กีดกัน หรือเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ ชึ่งครอบคลุมทั้งเพศภาวะ (gender) ซึ่งหมายถึง ภาวะความเป็นหญิง ความเป็นชาย และความเป็นเพศอื่น ที่ถูกกำหนดและควบคุมด้วยเงื่อนไขทางสังคม และเพศวิถี (sexuality) ซึ่งหมายถึง ความคิด อารมณ์ความรู้สึก วิถีปฏิบัติ การกำหนดและแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ ตลอดจนวิถีชีวิตโดยรวมที่เกี่ยวโยงกับเรื่องเพศ การมี(หรือไม่มี)คู่ ความสัมพันธ์ทางเพศ และสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ ที่ถูกกำหนดและควบคุมด้วยเงื่อนไขทางสังคมเช่นกัน

ความรุนแรงบนฐานเพศ

(Gender-and sexuality-based violence)

หมายถึง ความรุนแรงที่บุคคลกระทำต่อบุคคลอันเนื่องมาจากสถานะด้านเพศภาวะ และ/หรือเพศวิถีของบุคคล โดยมีสาเหตุเบื้องลึกจากกรอบทางสังคมที่กำหนดให้บุคคลที่มีเพศภาวะหรือเพศวิถีต่าง ๆ มีคุณค่า ศักดิ์ศรี สิทธิ อำนาจ และความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรได้ไม่เท่าเทียมกัน และเปิดโอกาสให้เกิดการใช้ความรุนแรงเพื่อกดขี่ควบคุมกัน ขณะที่สถาบันทางสังคมต่าง ๆ มักยินยอมให้ความรุนแรงในลักษณะนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีการแทรกแซงทางสังคมและกฎหมายอย่างจริงจังเท่าที่ควร ทั้งนี้ แผนงานฯ ตระหนักว่าความรุนแรงบนฐานเพศมีโอกาสเกิดได้กับคนทุกเพศ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงบนฐานเพศมากที่สุดในปัจจุบัน คือ ผู้หญิงและเด็กหญิง