โครงการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวชุมชนมุสลิม จังหวัดปัตตานี

โครงการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวชุมชนมุสลิม จังหวัดปัตตานี

นอกจากปัญหาความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วประชากรในจังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะผู้หญิงและเยาวชนหญิงจำนวนไม่น้อย ยังต้องประสบกับปัญหาความรุนแรงในรูปแบบอื่น โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดจากเรื่องเพศและเพศภาวะ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นองค์กรสาธารณกุศล ได้เข้ามาดำเนินงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนและการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และประชาชนเป็นอย่างดี จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ มีประสบการณ์การให้ความรู้และให้บริการงานด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยมีเจ้าหน้าที่โครงการประสานงานประจำในพื้นที่จังหวัดปัตตานี วิทยากรอาสาสมัครประจำโครงการ คณะกรรมการชมรมครอบครัวสุขภาพดีประจำหมู่บ้าน ร่วมดำเนินงานในพื้นที่

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี พบว่าพื้นที่จังหวัดปัตตานีมีปัญหาการหย่าร้างสูง ประชากรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และการใช้ยาเสพติดสูง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงในเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว เป็นปัญหาที่รุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหาย ด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมโดยรวมสถิติจำนวนผู้มารับบริการที่โรงพยาบาลปัตตานี

จากสถานการณ์ดังกล่าว สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานส่งเสริมสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ให้ดำเนินโครงการเพื่อลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยใช้แนวทางการทำกิจกรรมเพื่อลดความรุนแรงในครอบครัวโดยอิงกับคำสอนของท่านศาสดาในศาสนาอิสลาม ซึ่งกล่าวไว้ว่า “สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา” โดยมีกรอบเนื้อหาคือ 1) จัดกิจกรรมเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงโดยเอาประเด็นรักสุขภาพของตัวเองเป็นจุดเริ่มต้น 2) ชี้ให้เห็นว่าทำไมจึงต้องคำนึงถึงสิทธิ ศักดิ์ศรี และความรักในความเป็นมนุษย์ของบุคคลเพศหญิงและเพศชายอย่างเท่าเทียมกัน 3) ชี้ให้เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ทำให้บทบาทและสิทธิของสตรีมุสลีมะฮ์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยอาศัยปัจจัยเกื้อหนุน คือ คุณค่าของความเป็นเพศแม่ที่เพศชายต้องให้เกียรติและยกย่อง รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำจิตวิญญาณ และผู้ศรัทธา

การดำเนินงานโครงการมีต่อเนื่องมา 3 ระยะ

ระยะที่ 1 “โครงการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ และลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี” ระยะเวลา 3 เดือน กันยายน – ธันวาคม 2556

ระยะที่ 2 “โครงการครอบครัวสุขสันต์ เกอลูวัรฆอบาฮาฆียอร์: พัฒนาศักยภาพการให้คำปรึกษาแก่แกนนำอาสาสมัครและการเยี่ยมบ้าน ป้องกันปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์และลดความรุนแรงในครอบครัว อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี” ระยะเวลา 9 เดือน กรกฎาคม 2557 – มีนาคม 2558

ระยะที่ 3 “โครงการครอบครัวสุขสันต์ เกอลูวัรฆอบาฮาฆียอร์ : พัฒนาศักยภาพการให้คำปรึกษาแก่แกนนำอาสาสมัครและการเยี่ยมบ้าน ป้องกันปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์และลดความรุนแรงในครอบครัว อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ระยะเวลา 5 เดือน กันยายน 2558 – มกราคม 2559

แม้จะทำงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในหลายด้าน แต่โครงการก็ยังพบความท้าทายที่นำมาสู่การทำงานในระยะต่อไป เนื่องจากการทำงานที่ผ่านมาเน้นการทำงานกับผู้ประสบปัญหาที่เป็นผู้หญิง แต่การจะลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องหนุนเสริมศักยภาพของสมาชิกในครอบครัวและในชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะการดึงให้พ่อบ้าน และเยาวชนหญิงชาย ได้ร่วมเรียนรู้และได้รับการเสริมพลัง หรือการให้กำลังใจ เพื่อให้เห็นคุณค่าในตนเอง มีกำลังใจที่จะจัดการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องตามหลักศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องเสริมศักยภาพคณะขับเคลื่อนโครงการให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานในชุมชนของตนเองได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยมีสำนักงานสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ ในส่วนกลางทำหน้าที่ให้การแนะนำ หนุนเสริมการดำเนินงานโครงการ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านการจัดทำรายงานการเงินของโครงการ และได้รับการสนับสนุนจากแผนงานส่งเสริมสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศสมาคมเพศวิถีศึกษาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โครงการนี้มีระยะเวลาการดำเนินงาน 17 เดือน (ตุลาคม 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561)