โครงการฟื้นฟูกฎจารีตและแก้ไขปัญหาความรุนแรงเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้หญิงและเด็กชาวม้ง

เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย ได้ทำการวิจัยแบบมีส่วนร่วมจากชุมชนชาวม้ง ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยมีประเด็นหลักที่ศึกษาคือผลกระทบจากกฎจารีตในสังคมม้งที่มีต่อผู้หญิงที่ออกจากเรือนของพ่อแม่ไปแล้ว แต่ประสบปัญหาชีวิตครอบครัว เช่น สามีเสียชีวิต หย่า ถูกส่งคืน หรือมีลูกนอกสมรส สถานะภาพของผู้หญิงกลุ่มนี้จะกลายเป็นคนไม่มีตัวตนในสังคมม้ง โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้อาวุโสกับชุมชนชาวบ้านแม่สาใหม่ และบ้านแม่สาน้อย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มนักวิชาการในการเป็นวิทยากรทำวิจัยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ตลอดจนการเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ

จากโครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วมดังกล่าว ได้ค้นพบทางออกของปัญหาผลกระทบจากกฎจารีตในสังคมม้งที่มีต่อผู้หญิงที่ออกจากเรือนของพ่อแม่ไปแล้ว นั่นคือ พิธีกรรมผู่ (Phum) หรือพิธีรับลูกสาวกลับบ้าน ซึ่งมีมานานในสังคมแต่ไม่ค่อยมีผู้รู้ จึงได้เชิญผู้นำชุมชนที่มีความรู้มาสอนทำพิธีกรรม และคณะวิจัยได้ทำการรณรงค์พิธีกรรมนี้ให้กับพี่น้องชาวม้งในประเทศไทย ซึ่งผลจากการทำงานรณรงค์ขยายผลสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวม้งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมีความตื่นตัวและมีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการรับลูกสาวเข้าบ้านอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งมีหลายครอบครัว และหลายตระกูลแซ่ในประเทศไทยที่ยอมรับพิธีกรรมผู่หรือพิธีกรรมรับลูกสาวเข้าบ้าน อีกทั้งพิธีกรรมผู่นี้ยังได้แผ่ขยายจนเป็นกระแสและได้รับความสนใจจากคนม้งที่อยู่ในประเทศอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว ยังทำให้เครือข่ายฯ เป็นที่รู้จักและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในหมู่ชาวม้ง โดยเฉพาะผู้หญิงม้งที่ประสบปัญหาครอบครัวและปัญหาความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้มีผู้หญิงม้งที่ประสบปัญหาติดต่อขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากเครือข่ายฯ เป็นระยะ ซึ่งเครือข่ายฯ จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและช่วยเหลือผู้หญิงม้งจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไปโดยปริยาย มีทั้งลักษณะการปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ และการติดต่อขอความช่วยเหลือกรณีเร่งด่วน เช่นการถูกกระทำรุนแรงทางเพศ การถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย เป็นต้น

จากสถานการณ์ดังกล่าว เครือข่ายฯ จึงมีแผนงานในระยะต่อไป 20 เดือนข้างหน้านี้ (1 กรกฎาคม 2559 – วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561) คือพัฒนางานศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับผู้หญิงและเด็กชาวม้งที่ประสบปัญหาความรุนแรงให้เป็นระบบ มีผู้ให้คำปรึกษาที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมม้งและมีทักษะการปรึกษา และสามารถส่งต่อผู้ประสบปัญหาให้ได้รับความช่วยเหลือทั้งจากครอบครัว ผู้นำชุมชนชาวม้ง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปเพื่อให้ชาวม้งมีสังคมที่ดี มีกฎจารีตที่เป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม ผู้หญิงม้งเข้มแข็งและปลอดภัยจากความรุนแรง