โครงการพัฒนารูปแบบงานส่งเสริมป้องกันและบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าที่มีความละเอียดอ่อนด้านเพศภาวะ

ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดโรคซึมเศร้าในประชากรทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น นำมาสู่ปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ อัตราการเกิดโรคซึมเศร้าในผู้หญิงภาพรวมระดับโลก สูงกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า (Vidler, 2005) ขณะเดียวกันการศึกษาระดับชาติของประเทศไทยพบแนวโน้มเดียวกัน คือ สัดส่วนการเป็นโรคซึมเศร้าในผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย หรือเท่ากับ 1.6 : 1 ซึ่งจากมุมมองเพศภาวะและหลักฐานงานวิจัยเชิงคุณภาพที่สัมภาษณ์บุคคลที่ประสบกับภาวะซึมเศร้า พบว่าปัจจัยที่ทำให้บุคคลมีภาวะซึมเศร้าเป็นเพราะความเครียดจากบทบาททางสังคมที่พวกเขาถูกคาดหวัง หรือการที่ผู้หญิงถูกผู้ชายใช้อำนาจควบคุมหรือกระทำรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนผู้ชายที่มีความเครียดก็ถูกกดดันด้วยบทบาทความคาดหวังเรื่องความเป็นชายในสังคม ทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงออกถึงความอ่อนแอ จึงหันไปใช้วิธีการที่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในด้านอื่น ๆ

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมเพศภาวะและสุขภาพสตรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ศูนย์เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้า กรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำงานที่สร้างความเข้าใจมิติเชิงโครงสร้างอำนาจและความเป็นธรรมทางสังคม โดยเฉพาะกรอบเรื่องเพศ หรือบรรทัดฐานความเป็นหญิงเป็นชายในสังคม บูรณาการเข้ากับรูปแบบการทำงานเชิงป้องกันและบำบัดรักษาโรคซึมเศร้า มีความละเอียดอ่อนด้านเพศภาวะและความเป็นธรรมทางเพศ จึงร่วมกันพัฒนา “โครงการพัฒนารูปแบบงานส่งเสริมป้องกันและบำบัดรักษาโรคซึมเศร้า ที่มีความละเอียดอ่อนด้านเพศภาวะ” โดยมีเป้าหมายเพื่อ พัฒนารูปแบบการทำงานส่งเสริมป้องกัน บำบัดรักษา และฟื้นฟูสุขภาพจิตและจิตเวชในประเทศไทย ที่บูรณาการมิติเพศภาวะในกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชในระยะยาว มีระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน (กันยายน 2559 – กุมภาพันธ์ 2561)ดำเนินงานร่วมกับหน่วยให้บริการด้านสุขภาพจิต ประกอบด้วยโรงพยาบาลจิตเวช 1 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ โรงพยาบาลเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โรงพยาบาลกันทรารมย์ และโรงพยาบาลขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีกระบวนการทำงาน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ 1)งานด้านวิชาการ เช่น การค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล, การจัดอบรมเพิ่มมุมมองและทักษะที่มีมิติด้านเพศภาวะให้กับผู้ปฏิบัติงาน 2)งานทดลองปฏิบัติในพื้นที่ดำเนินงาน ทั้งในส่วนของงานส่งเสริมป้องกันและการบำบัดรักษา 3)งานติดตามและประเมินผล บันทึกข้อมูลระหว่างการทดลองปฏิบัติ