ไม่ใช่เฉพาะผู้รับบริการเท่านั้นที่ต้องการ EMPOWERMENT…ผู้ให้บริการก็เช่นเดียวกัน

“กรณีที่คนไข้ความรุนแรงในครอบครัว จะเข้าใจว่าทำไมผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้าย ทำไมเข้าไม่สามารถออกมาจากความสัมพันธ์ตรงนั้นได้ ทั้งที่สามียังทำร้ายอยู่ เจ้าหน้าที่จะเข้าใจตรงนี้ ไม่ตั้งคำถามและไม่ตีตรา”

คุณอชิมา เกิดกล้า

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มงานพัฒนาระบบบริการเฉพาะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ผ่านการอบรมการให้คำปรึกษาเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพแนวสตรีนิยม ที่จัดโดยแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา และเป็นคณะทำงานโครงการพัฒนากระบวนกรเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพ และโครงการจัดอบรมเรื่องการฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพแนวสตรีนิยมสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลนครอบครัวในจังหวัดนำร่อง

มองเห็นความสำคัญของการเสริมศักยภาพคนทำงานให้คำปรึกษาที่ต้องเผชิญกับผู้ขอรับบริการที่ประสบปัญหาความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่ประสบปัญหาความรุนแรงที่มีความซับซ้อนของปัญหา ที่ไม่สามารถจ่ายยาแล้วผู้รับบริการสามารถกลับบ้านได้ แต่ผู้ให้บริการต้องเข้าใจรากเหง้าของปัญหา โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงหรือปัญหาของสังคม เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรง หรือสิ่งที่ผู้รับบริการต้องเผชิญปัญหาในครอบครัว บางครั้งผู้ให้บริการไม่เข้าใจว่าทำไมผู้รับบริการไม่ยอมออกจากปัญหานั้นมา

การทำงานที่ผ่านของผู้ให้บริการที่ทำงานบริการให้คำปรึกษาจะค่อนข้างทุกข์ เพราะเป็นกระบวนการให้คำปรึกษาที่ผู้ให้บริการจะตัดสินใจแทน พยายามหาทางแก้ไขปัญหา แต่เมื่อได้เข้าร่วมเรียน“การปรึกษาเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพ แนวสตรีนิยม” แล้ว พบว่าผู้ให้คำปรึกษาเกิดการเปลี่ยนเปลี่ยน คือ ไม่ตัดสินใจแทนคนไข้ การตัดสินใจจะอยู่ที่ผู้รับบริการ ผู้ให้คำปรึกษามีหน้าที่ให้ข้อมูลกับทำความเข้าใจกับคนไข้ ให้เห็นเหตุปัจจัยที่เกิดปัญหา และส่วนหนึ่ง ของกระบวนการที่สอนจะเป็นเรื่องเยียวยาดูแลตัวเอง ที่สามารถทำได้ง่ายๆ สิ่งที่เปลี่ยนไปนอกจากกระบวนการทำงานแล้ว ตัวของผู้ให้คำปรึกษาก็เปลี่ยน ฟังคนอื่นมากขึ้น มีความมั่นคงภายใน สามารถเผชิญกับปัญหาหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้

“เราทำงานเชิงนโยบายก็จริง แต่มีโอกาสสัมผัสกับคนทำงาน พบว่าเขาทุกข์จริงๆ เคยลงไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลที่ทำงานกับบุคลากร อาจจะเป็นน้องที่เข้ามาใหม่ๆ ไม่มีประสบการณ์การทำงาน เขาบอกว่ารู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว เขาเคยเจอเคสพ่อข่มขื่นลูก เขาบอกว่าไม่สามารถช่วยเหลือเคสได้ วิธีแก้ปัญหาเขาคือปล่อยเคสกลับบ้าน เพราะเขาไม่กล้าที่จะทำ เขาไม่มีความรู้พอ เลยรู้สึกว่าเป็นตราบาปที่ติดตัว แต่ความรู้ตรงนี้จะทำให้เขาคลายตรงนั้นได้ เขาเข้าใจและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ว่าความผิดพลาดหรือความล้มเหลวจากการบริการไม่ได้เกิดจากตัวเขา มันมีทั้งตัวระบบและตัวคนไข้เอง ตรงนี้น่าจะช่วยเขาให้ทุกข์น้อยลง”

ข้อจำกัดของการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้ คือ ระยะเวลาและจำนวนผู้ที่เข้าร่วมอบรมในแต่ละรุ่น ไม่สามารถอบรมครั้งละมากๆได้ เพราะเป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและผ่านประสบการณ์ ขณะที่คนทำงานด้านการให้คำปรึกษาในศูนย์พึ่งได้ ทั้งประเทศมีประมาณพันกว่าคน ตลอดสองปีที่แล้วได้มีความพยายามจะพัฒนาหลักสูตรให้เหลือ 5 วันจาก 7 วัน เพื่อให้คนที่มีภารกิจเยอะสามารถเข้าอบรมได้ และมีการพัฒนาทีมกระบวนกรที่จัดอบรมแนวนี้ขึ้นมา มีการทำหลักสูตรและพัฒนาทีมกระบวนกรหลายครั้ง แต่จากการประเมินเมื่อสิ้นโครงการ พบว่าตัวหลักสูตร 5 วันไม่เพียงพอสำหรับคนทำงานเรื่องให้คำปรึกษา แต่สามารถใช้อบรมคนทำงานเติมเรื่องฐานคิดบางทักษะได้ จึงใช้หลักสูตร 7 วันเหมือนเดิม

“ตอนนี้ถ้าถามถึงภาพฝัน เราคาดหวังว่าอยากให้คนทำงาน OSCC ได้ผ่านการอบรมการให้คำปรึกษา Empowermentทุกคน จะดียิ่งขึ้นถ้าครอบคลุ่มบุคลากรทุกส่วนของโรงพยาบาล รวมทั้งทีมสหวิชาชีพที่ทำงานทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล น่าจะตอบโจทย์คนทำงาน เพราะตอนนี้เราเห็นว่าคนทำงานแก้ปัญหาความรุนแรงมีข้อจำกัดและขาดองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับการทำงาน เรามองว่าองค์ความรู้เป็นคำตอบและแก้ปัญหากลไกที่ไม่สามารถเป็นไปได้ตามกฎหมายที่กำหนดหลายๆ ตัว”

จากบทสัมภาษณ์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
สัมภาษณ์โดย คุณจารุปภา วะสี

บทสัมภาษอื่น ๆ