คดีอาญา ผู้ก่อเหตุคืออาชญากร แต่ถ้ามีฐานคิดความเป็นธรรมทางเพศ จะสามารถมองได้กว้างมากขึ้นในแง่ของการคุ้มครองเด็กและผู้หญิง

“โรงเรียนนายร้อยเป็นหลักสูตรที่ผลิตตำรวจซึ่งเป็นตำรวจผู้ชาย เมื่อผู้หญิงเข้าไปเรียนในหลักสูตรนี้จึงมีชุดความคิดไม่ต่างจากตำรวจผู้ชาย ซึ่งเขาไม่เข้าใจว่าทำไมผู้หญิงคนหนึ่งไม่สามารถเดินออกมาจากสถานการณ์ที่เลวร้ายได้ พอเขามาอบรมตรงนี้แล้วทำให้มีมุมมองกว้างขึ้น เข้าใจสังคมที่ชายเป็นใหญ่ว่าถูกกดทับด้วยอะไรบ้าง พอเขาไปทำงานก็จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวผู้เสียหาย และทำให้เขามองเห็นว่าวิธีการดูแลผู้ประสบปัญหาควรจะทำอย่างไร”

พันตำรวจเอกหญิงปวีณา เอกฉัตร

ผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 ผู้ผ่านการอบรมฐานคิดความเป็นธรรมทางเพศ หนึ่งในสมาชิกชมรมพนักงานสอบสวนหญิง ซึ่งชมรมฯ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ พัฒนา “โครงการด้านการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนหญิงให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเอื้อให้สามารถคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ที่ประสบปัญหาการถูกใช้ความรุนแรง การทำร้ายทางเพศ และการล่วงละเมิดอื่นๆ ที่มีมิติความเป็นธรรมทางเพศเป็นฐานในการทำงาน

“ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับเพศ โดยทั่วไป 80-90% ผู้กระทำ ผู้ต้องหาเป็นผู้ชาย ผู้เสียหาย ผู้ถูกกระทำเป็นผู้หญิงหรือเป็นเด็กทั้งเด็กหญิงและชาย เมื่อเขามาพบตำรวจ ถ้าเป็นผู้ชาย เขาจะรู้สึกเหมือนถูกกระทำซ้ำ และไม่ไว้วางใจที่จะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฟัง และงานของพนักงานสอบสวนทั่วไปมีความรับผิดชอบอื่นที่ต้องดูแลด้วยในคดีอาญาทั่วไป ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ความละเอียดอ่อนมาก แต่เวลาเจอพนักงานสอบสวนหญิงผู้ประสบปัญหาจะมั่นใจที่จะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังมากกว่า หรือบางทีมีรายละเอียดปลีกย่อยในครอบครัวของเขาเอง จะทำให้เขากล้าเล่ามากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินคดีในส่วนของ พรบ. ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เพราะ พรบ.ฉบับนี้ประสงค์ให้ครอบครัวกลับมาอยู่ด้วยกันได้ แต่ถ้าอยู่ด้วยกันไม่ได้ก็ต้องมีวิธีแก้ปัญหา ถ้าเราได้ข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว มันจะนำไปสู่สำนวนคดี ซึ่งเมื่อมีการพิจารณาสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพต่างๆ หรือการพิจารณาของศาล จะเอาข้อมูลส่วนนี้เข้าไปพิจารณาด้วย”

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียนตำรวจและพนักงานสอบสวนหญิงหลังจากการได้เข้าอบรมปรับฐานคิดเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ คือ ได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจโครงสร้างสังคมที่ชายเป็นใหญ่ การฟื้นฟูพลังอำนาจภายในให้แก่ผู้ประสบปัญหา และที่สำคัญคือการดูแลตัวเองของผู้มาเข้าอบรมซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงาน หากผู้ปฏิบัติงานยังไม่รู้จักดูแลตัวเองเลย สิ่งที่ทับถมลงมาเรื่อยๆ จะทำให้ไม่อยากทำงานต่อ แต่ถ้ามีวิธีดูแลตัวเอง จะรู้สึกว่าอยู่ได้กับสิ่งที่เราเป็นอยู่ และสามรถออกไปช่วยเหลือคนอื่นได้

“ยืนยันว่าการอบรมปรับฐานคิดจำเป็นจริงๆ เพราะนักเรียนตำรวจ 4 ปีเรียนวิชาการตำรวจ ไม่มีส่วนตรงนี้ ถ้าจบออกมาทำงานแล้วไม่มีมุมมองตรงนี้เลย จะมีมาตรฐานเดียวกันว่า คดีอาญา ผู้ก่อเหตุคืออาชญากร เป็นอาชญากรรม แต่เวลาเราใส่ฐานคิดตรงนี้เข้าไป เขาจะมีมุมมองกว้างมากขึ้นในแง่ของการคุ้มครองเด็ก และผู้หญิง คือจะมองเห็นโครงสร้างของปัญหามากขึ้น ไม่ใช่เห็นแค่ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ”

สิ่งที่ท้าทายการทำงานของพนักงานตำรวจสอบสวนหญิงมีมาตั้งแต่เริ่มเป็นตำรวจแล้ว เพราะองค์กรนี้ผู้ชายเป็นใหญ่ ถูกท้าทายตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาจนกระทั่งเพื่อนร่วมงาน ทำให้ต้องใช้ความพยายามและปัจจัยหรือองค์ประกอบทุกอย่างที่มีพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถทำงานตรงนี้ได้ และการสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการสั่งซึ่ง “คำสั่งอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องทำให้เขาเห็นด้วยว่าเราเป็นที่พึ่งของเขาได้ เขาจึงจะเชื่อมั่นในตัวเรา”

จากบทสัมภาษณ์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
สัมภาษณ์โดย คุณจารุปภา วะสี

บทสัมภาษอื่น ๆ