เสียงเล็กๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ “การจัดการปัญหาคุกคามทางเพศในที่ทำงาน”

“บ่อยครั้งที่เรามักเห็นข่าวการฉวยโอกาสลวนลามเกิดขึ้นในสถานที่ผู้คนแออัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนรถขนส่งมวลชน รถโดยสาร การถูกลวนลามสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารหรือแม้กระทั่งพนักงานก็ตาม หลายต่อหลายครั้งที่การเรียกร้องความยุติธรรมจากกรณีการลวนลามถูกละเลย เพิกเฉยเป็นการตอบแทน แทบไม่ต่างอะไรกับการส่องไฟขึ้นฟ้า”

คุณพยงค์ ฉิมพลี นักงานเก็บเงินบนรถโดยสาร ขสมก. คณะทำงานโครงการพัฒนาต้นแบบองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มองว่าการคุกคามทางเพศในรูปแบบของการถูกลวนลามสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย จากประสบการณ์การทำงานและจุดมุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศของพนักงานเก็บเงินบนรถโดยสาร ขสมก. กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอตัดสินใจเข้าร่วมทำงานกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา

“เราอยากแก้ไขปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ ทั้งจากประสบการณ์ตรงและทางอ้อม ช่วงแรกๆเราไปปรึกษาใครก็มักถูกตอกกลับว่าไปให้ท่าเขาก่อนหรือเปล่า เป็นประเด็นที่ถูกเพิกเฉย เราจึงตัดสินใจใช้วิธีเขาทำมาเราทำตอบ แต่นั่นก็ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องเลย คิดแต่เพียงว่าจะทำอย่างไรให้การคุกคามทางเพศในที่ทำงานหายไป จะได้ทำงานอย่างมีความสุข”

คุณยงค์ได้เข้าทำงานกับสหภาพแรงงานร่วมกับโครงการสตรีไอทีเอฟ โดยดำรงตำแหน่งผู้แทนแรงงานฝ่ายสตรี เธอจึงเสนอประเด็นการคุกคามทางเพศเข้าที่ประชุม จากนั้นจึงได้ร่วมงานวิจัยกับมูลนิธิธีรนาทกาญจนานุสรณ์ ทำให้เข้าใจว่าการคุกคามทางเพศมิใช่เพียงการสัมผัสลวนลามเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการแทะโลมด้วยวาจาหรือสายตาท่าทีอีกด้วย

ช่วงที่เธอพยายามร้องเรียนแก่ผู้บริหาร แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงครั้งเดียว กว่าจะเกิดชุดคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ได้นั้น มาจากเหตุการณ์พนักงานทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายกันจนถึงแก่ชีวิต ทำให้ผู้บริหารเล็งเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องสวัสดิภาพของพนักงานมากขึ้น จึงได้จัดตั้งคณะทำงาน โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารและผู้แทนสหภาพแรงงาน

“หลังจากเลือกแกนนำและได้รับการอบรมแล้ว เหล่าแกนนำรู้สึกว่าตนสามารถรับฟังผู้อื่นได้ดีขึ้น มีการเจรจาต่อรองด้วยความประนีประนอมในระหว่างการทำงาน บรรยากาศการทำงานเป็นมิตรกว่าเดิม สหภาพกับผู้บริหารมีการกำหนดนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน เข้าใจตรงกัน หากวัดด้วยสายตาของเราเอง คิดว่าพฤติกรรมการคุกคามทางเพศในที่ทำงานลดลง ฝ่ายผู้กระทำก็ปรับลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ให้ลดน้อยถอยลง ทั้งกิริยา วาจา และฝ่ายผู้ถูกกระทำก็มีความสุขในการทำงานมากขึ้น”

สำหรับอาชีพบริการ เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่ต้องประสบพบเจอกับผู้คนหลากหลายรูปแบบ แน่นอนว่าการทำงานทุกที่ล้วนมีปัญหา แต่อาจแตกต่างกันไปตามลักษณะงานหรือลักษณะองค์กร ส่วนใหญ่แล้วการทำงานกับคนหมู่มากมักมีปัญหาด้านการสื่อสารและความเข้าใจคลาดเคลื่อน การเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ย่อมได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในองค์กร หากทุกฝ่ายเคารพในความคิดเห็นซึ่งกันและกันแล้ว การเดินหน้าร่วมกันแก้ไขปัญหาก็คงไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม ทั้งนี้ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นการรับฟังเสียงของผู้นำหรือเสาหลักองค์กรเท่านั้น แต่เป็นการเปิดใจรับฟังทุกฝ่าย เคารพในความคิดเห็นทุกเสียง แม้เสียงเล็ก ๆ ของพนักงาน บางทีเสียงเล็ก ๆ เหล่านั้นอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนก็เป็นได้

“จากการทำงานร่วมกับกับทั้งทีมผู้บริหารและสหภาพแรงงาน การเปิดรับความคิดเห็นจากหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นบุคลากรภายใน ผู้ใช้บริการหรือความคิดเห็นจากคนภายนอก ทำให้หลายฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายภาคหน้า เกิดการระดมความคิด ร่วมกันหาทางออก ร่วมกันแก้ไขปัญหา จะมีความคิดเห็นใหม่ ๆ ที่เข้ามาชี้ช่องให้เราเห็นมุมมองต่าง ๆ ของ ขสมก. กว้างขึ้น ทำให้องค์กรสามารถเดินหน้าต่อและร่วมกันแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ”

คุณยงค์ ฉิมพลี พนักงานเก็บเงินบนรถโดยสาร ขสมก.
จากบทสัมภาษณ์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
สัมภาษณ์โดย คุณจารุปภา วะสี

บทสัมภาษอื่น ๆ