ปัญหาการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นเกิดจากตัววัยรุ่นเองทั้งหมดหรือเกิดจากการถูกจำกัดโอกาสที่จะเข้าถึงองค์ความรู้ด้านเพศศึกษากันแน่ ?

“ ความสนใจและเข้าใจตรงกันของทุกฝ่ายในชุมชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ”

จากจุดสนใจเล็ก ๆ ในประเด็นท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น นำไปสู่การร่วมงานระหว่างคุณมิหล๊ะ สุระกำแหง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา หรือพี่เขียว กับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา เริ่มตั้งแต่การวิจัยพาร์พร้อมกับอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป้าหมายของทีมวิจัยดังกล่าวคือความพร้อมรับมือกับสถานการณ์และการร่วมมือร่วมใจกันระหว่างทีมเจ้าหน้าที่ รพสต. ทีม อสม. ทีมชุมชน อบต. และเครือข่ายสุขภาพในชุมชน

“หากจะให้กล่าวถึงกระบวนการทำงาน เริ่มจากเราทำโครงการแก้ไขปัญหา โครงการดังกล่าวทำมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ไม่ได้ผล มีเพียงหน่วยงาน อสม. ที่ให้ความร่วมมือ จึงได้ไปปรึกษากับทางโรงพยาบาลสทิงพระเพื่อให้โรงบาลช่วยสนับสนุนเสมือนเป็นพี่เลี้ยง เมื่อได้รับความร่วมมือจากทางโรงพยาบาล โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆในชุมชน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่คนในชุมชนก็เป็นเรื่องง่ายขึ้น ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ให้ความร่วมมือ สถิติการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นก็ลดลง”

การแก้ปัญหาเริ่มมาจากการเข้าอบรมและเรียนรู้การทำงานเป็นทีม ต้นตั้งแต่การปรับฐานคิด และการให้คำปรึกษาอย่างถูกวิธี หลังจากทีมงานผ่านการอบรมก็ได้เป็นฝ่ายถ่ายทอดความรู้แก่คนในชุมชน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ผู้ผ่านการอบรมเลิกยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง สิ่งที่ทีมงานและชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกันคือการแก้ไขปัญหาโดยมุ่งไปที่การให้ความรู้อย่างเพียงพอแล้วให้ผู้นั้นเป็นฝ่ายคิดวิเคราะห์ตัดสินใจหาทางออกด้วยตนเอง มิใช่การนำเอาตนเองไปวางเป็นมาตรวัดผู้อื่นแล้วตัดสินใจแทน

การแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นมิได้มีเพียงแค่การเก็บลูกไว้แล้วเลี้ยงจนโตเท่านั้น ยังมีอีกทางเลือกที่เรียกว่ายุติการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเก็บเด็กไว้หากตกอยู่ในสถานภาพที่ไม่พร้อมเลี้ยงดูบุตรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และการยุติการตั้งครรภ์ในที่นี้มิใช่การทำแท้งเถื่อนหรือทานยาขับ แต่เป็นการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยโดยได้รับความร่วมมือจากทางโรงพยาบาลสทิงพระ พร้อม ๆ กับการให้ความรู้แก่ชุมชนอย่างถูกต้อง

ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสามารถนำไปบูรณาการกับเรื่องอื่น ๆ อันเกี่ยวข้องกับสุขภาวะอนามัยของคนในชุมชนได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรู้จักป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน คลินิกพัฒนาการเด็กในช่วงขวบปีแรกถึงห้าปี รวมถึงคลินิกฝากครรภ์ด้วย ทุกระบบล้วนเกี่ยวข้องโยงใยหากันได้

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นยังคงเรื้อรังมาจวบจนปัจจุบัน เกี่ยวข้องกับหลักศาสนาที่บัญญัติไว้ว่าการทำแท้งถือเป็นการฆ่า เป็นบาป และสภาพสังคมไทยที่ยังกระดากอายในการพูดเรื่องเพศหรือให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา

“ปัญหาคือครูไม่กล้าพูดเรื่องเพศ ขนาดว่าทำโครงการนี้ ครูเขายังไม่เปิดใจเท่าไหร่ แต่ก็ยังดีที่ยังให้ความร่วมมืออยู่ ถ้าหน่วยงานไม่ให้ความสำคัญก็ทำอะไรมากไม่ได้ แล้วกรณีหลักศาสนาอิสลาม หากฝ่ายหญิงมีการตั้งครรภ์ก็มักจบลงที่การแต่งงาน แม้ทั้งสองฝ่ายจะยังไม่พร้อม แล้วปัญหาคือกระบวนการยุติการตั้งครรภ์ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับในผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม”

การแก้ไขปัญหาดังกล่าวคงไม่สัมฤทธิ์ผล หากทัศนคติเรื่องในเรื่องเพศศึกษายังเป็นเรื่องชวนกระดากอายที่จะกล่าวถึง หนทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือการเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การคิดวิเคราะห์หาทางออกของปัญหาอย่างเหมาะสม จากสถานการณ์ข้างต้นก็ไม่แน่ใจแล้วว่าปัญหาการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นนั้นเกิดจากตัววัยรุ่นเองทั้งหมดหรือเกิดจากการถูกจำกัดโอกาสที่จะเข้าถึงองค์ความรู้ด้านเพศศึกษากันแน่ ?

คุณมิหล๊ะ สุระกำแหง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
จากบทสัมภาษณ์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
สัมภาษณ์โดย คุณจารุปภา วะสี

บทสัมภาษอื่น ๆ