รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ
อาจารย์คณะพยาบาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะทำงานโครงการพัฒนากระบวนกรการอบรมด้านการปรึกษาแนวสตรินิยมเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพ ได้เริ่มต้นทำงานกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา โดยการเป็นผู้ติดตามและประเมินผลคนที่รับการอบรมที่บ้านดิน แล้วพบว่าผู้ที่ผ่านการอบรมฯ เกิดความรู้ความเข้าใจความไม่เป็นธรรมทางเพศ สามารถนำความรู้จากการอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานของเขาได้จริง จึงเป็นที่มาของโครงการจัดอบรมกระบวนกรการอบรมด้านการปรึกษาแนวสตรินิยมเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพ การทำโครงการฯ ในครั้งนี้ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงกับทั้งตัวอาจารย์เองและหลักสูตรการเรียนการสอน ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทั้งหลักสูตรได้ แต่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว
การอบรมด้านการปรึกษาแนวสตรินิยมเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพ สามารถช่วยให้คนที่ปฏิบัติงานให้คำปรึกษาฯ หรือโอเอสซีซี สามารถจัดกระบวนการอบรมที่มีความเป็นธรรมทางเพศได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายในระดับประเทศ กล่าวคือหนึ่ง มีความรู้ ความเข้าใจมองว่าผู้หญิงหรือเด็กที่ถูกทำร้ายเกิดจากโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ ไม่ได้เกิดจากตัวบุคคล สอง เกิดความเข้าใจ ความตระหนักจากประสบการณ์ของตนเอง ไม่ใช่เข้าใจด้วยการท่องจำ สาม สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ สามารถให้การบริการ จัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยเทคนิคการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ซึ่งประสบการณ์เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมทางเพศมีอยู่ในชีวิตของทุกคน หากมีโอกาสได้เรียนรู้ และทบทวนย้อนคิดจากประสบการณ์ของตนเองจะพบว่ามีมิติใดมิติหนึ่งที่เราได้รับการกดทับ หรือเราอาจจะไปกดทับคนอื่น โดยไม่ตั้งใจ
“เรียนรู้กับหลักสูตรบ้านดินแล้วพี่ตระหนักรู้ว่าเราเป็นคนที่มีอำนาจ และเผลอใช้อำนาจของเราด้วยความปรารถนาดี ด้วยชุดฐานคิดว่ามันถูกมันใช่ ความตระหนักรู้ทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น รู้จักที่จะเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มีส่วนร่วมในการคิดในการตัดสินใจ รับฟังคนอื่นมากขึ้น เราถูกฟอร์มด้วยบุคลิกภาพที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจ รับผิดชอบเอง มีความเป็นผู้นำถึงจะดี แต่พอเรามาเรียนรู้เรื่องนี้ เราคิดว่าไม่ใช่แล้วละ สิ่งที่เราคิดว่าดีอาจจะทำร้ายคนอื่น หรือเราไม่ได้ช่วยเหลือคนอื่นให้เขาได้ศักยภาพของเขา ทำให้เราตระหนักมากขึ้น และมองเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเก่ง เรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ ทำให้เรารับฟังคนได้นานยิ่งขึ้น และไวต่อประเด็น”
ความท้าทายในการทำงานนี้คือ จะทำอย่างไรให้นักศึกษาพยาบาลและอาจารย์มีความเข้าใจ มองเห็นความสำคัญของความไม่เป็นธรรมทางเพศ ซึ่งจะต้องทำในระดับนโยบายของหลักสูตรหรือสถาบันด้วย เพราะในฐานะผู้ปฏิบัติก็พยายามแล้ว แต่การอนุมัติต้องเป็นการตัดสินใจของผู้บริหาร ดังนั้น ผู้บริหารต้องเข้าใจประเด็นเรื่องนี้ด้วยจึงจะมีความเป็นไปได้ ซึ่งประเด็นปัญหาที่ผู้บริหารไม่มีความเข้าใจและไม่สนับสนุนมีอยู่ในทุกหน่วยงาน เช่น เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการเข้าร่วมอบรมแล้วอยาอกนำไปปฏิบัติได้จริงในที่ทำงาน แต่พอไปทำจริงเขาไม่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากผู้บริหาร
“ในหลักสูตรพยาบาลเราไม่มีเลยเรื่องชุดความรู้ความเป็นธรรมทางเพศ ก็เลยทำให้พี่ให้ความสนใจตรงนี้ แต่เนื่องจากการเอามาใช้โดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรยังเปลี่ยนไม่ทัน เพราะหลักสูตรถูกกำหนดโดยโครงสร้างของหลักสูตรหลายๆ วิชา อันดับแรกพี่เลยทำวิจัยก่อน เพื่อหาหลักฐานเชิงประจักษ์ เพราะสังคมต้องการพูดเรื่องหลักฐานเชิงประจักษ์ พอเราไปบอกกรมสุขภาพจิตว่าผู้หญิงซึมเศร้าเกิดจากสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงถูกกดทับ เขาก็บอกว่าใช่ แต่เกิดจากอะไร มีแต่บ่นแต่ไม่มีหลักฐาน เลยทำให้พี่ต้องทำงานวิจัยเพื่อหาหลักฐานว่าผู้หญิงซึมเศร้าเกิดจากความไม่เป็นธรรมอย่างไร เอาเพศสภาวะเข้ามาจับ พอทำแล้วก็เห็นชัด และสามารถเอาชุดความรู้ตรงนี้มาสอนนักศึกษา ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรโดยตรงแต่เอาไปสอดแทรกในหัวข้อที่เราสอน “
ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือนักศึกษา ทุกคนอาจมีส่วนในการสนับสนุนความไม่เป็นธรรมทางเพศได้ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น การดำเนินชีวิตประจำวัน วิธีคิด วิธีปฏิบัติของเรา เพราะทุกคนถูกสอน ถูกบอกมาอย่างนี้ แต่ถ้าทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องนี้ โดยการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ของตนเอง ทำให้เกิดการตื่น การตระหนัก ว่าเป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไร เราทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมโดยไม่ตั้งใจได้อย่างไร หากเข้าใจแล้ว ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เอื้อหรือส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมได้ แล้วทุกคนก็จะไปสอนลูกสอนหลาน สอนคนเจนเนอเรชั่นใหม่ด้วยชุดความรู้ใหม่ที่จะส่งเสริมความเป็นธรรม สังคมก็จะเกิดความเป็นธรรมทางเพศมากยิ่งขึ้น
จากบทสัมภาษณ์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
สัมภาษณ์โดย คุณจารุปภา วะสี