การใช้ “อำนาจร่วม” “ความเห็นอกเห็นใจ” และ “เปิดใจรับฟังกันและกัน” คือ ปัจจัยหลักของครอบครัวเข้มแข็ง

หากผู้หญิงกลุ่มหนึ่งต้องเข้าไปทำงานเกี่ยวกับแผนสุขภาวะผู้หญิง ท่ามกลางสังคมที่ผู้นำครอบครัวและผู้นำชุมชนล้วนเป็นชาย จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะได้รับความร่วมมือและความเข้าใจตรงกันจากทุกฝ่าย? แล้วกระบวนการทำงานจะเป็นอย่างไร วิธีการปรับฐานคิดคืออะไร และวิธีการดังกล่าวนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ได้อย่างไร หาคำตอบได้จาก คุณอุสมะห์ ลาเฮศักดิ์สิทธิ์ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย จังหวัดปัตตานี

จุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมทำงานกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษาของคุณอุสมะห์ ลาเฮศักดิ์สิทธิ์ หรือ พี่มะ มาจากการตอบรับคำเชิญจากแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งได้เชิญผู้ทำงานด้านงานอนามัยเจริญพันธุ์ ในนามของ สวท. สมาคมวางแผนครอบครัว ในปัตตานี นราธิวาส

จากการเข้าร่วมทำงานกับแผนงานฯ ส่งผลให้เกิดโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพและเสริมสร้างความแข็งแรงของสถาบันครอบครัวถึง 2 โครงการด้วยกัน ภายใต้ชื่อ “โครงการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์ และลดความรุนแรงในครอบครัว” และ “โครงการครอบครัวสุขสันต์” ซึ่งโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม มีการจัดตั้งคณะกรรมการและศูนย์ให้คำปรึกษา โดยใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการศูนย์ครอบครัวสุขสันต์”

“ก่อนหน้านี้โครงการลูกเกิดแม่รอดปลอดภัย เริ่มจากสภาพสังคม พ่อแม่มักให้ลูก ๆ แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้ความอดทน วุฒิภาวะไม่เพียงพอต่อการประคับประคองชีวิตคู่ เกิดปัญหาหย่าร้างตามมา อีกทั้งผู้ชายบางคนไปติดสารเสพติด ไม่เรียนหนังสือ มีลูกและไม่สามารถรับผิดชอบภาระต่างๆได้ เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายร่างกาย บางครอบครัวสามีติดคุก ภรรยาต้องเป็นเสาหลักครอบครัว ทำให้เราอยากลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว”

โครงการดังกล่าว เริ่มจากการให้ความรู้ด้านการป้องกันดูแลตนเองในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งได้ร่วมมือกับพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในระยะแรกมีการสร้างแกนนำชุมชน ในระยะที่สองได้อาศัยผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนามาร่วมเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อการรับผิดชอบต่อตนเองและครอบครัว ฝั่งแกนนำชุมชนก็จะให้ความรู้ด้านสาธารณสุข ฝั่งแกนนำศาสนาก็จะแนะนำว่าชายและหญิงต้องช่วยกันดูแลครอบครัว

สำหรับการทำงานเกี่ยวกับแผนสุขภาวะผู้หญิงที่อยู่ในสังคมแบบปิตาธิปไตยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย องค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมที่บ้านดินได้ถูกนำมาปรับใช้กับปัญหาตรงนี้

“จากที่ไปบ้านดิน จะมีเรื่องอำนาจเหนืออำนาจร่วม เราให้ผู้หญิงนั่ง ผู้ชายยืน แสดงความรู้สึกว่ารู้สึกอย่างไร แล้วก็ให้กลับกันว่าผู้ชายนั่ง แล้วรู้สึกอย่างไร พอนั่งด้วยกันแล้วรู้สึกอย่างไร พอเสร็จ ทั้งสองฝ่ายบอกว่านั่งเท่าเทียมกันสามารถแลกมุมมอง กล้าบอกสิ่งไหนควรไม่ควร เป็นการใช้การแลกเปลี่ยน ผู้นำชุมชนเขาบอกว่าที่จริงแล้วไม่ใช่ว่าอยากจะอยู่เหนือตลอด แต่ผู้หญิงไม่กล้าบอกว่าอันไหนทำได้หรือไม่ได้”

ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง คือความเข้าอกเข้าใจกัน วิธีการสร้างความเข้าใจผ่านการปรับฐานคิด หรือวิธีการปรับฐานคิดทำให้ผู้ชายเข้าใจภรรยาตนเอง การดูแลครอบครัวเป็นเรื่องที่คนสองคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน มิใช่ปัดภาระทั้งหมดให้ภรรยาฝ่ายเดียว เมื่อสามีเห็นใจภรรยาและภรรยากล้าเอ่ยถึงความต้องการที่แท้จริงของตน ความเข้มแข็งในสถาบันครอบครัวและการลดลงของความรุนแรงในครอบครัว ยังผลให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านการติดตามผลของทีมงาน ทั้งการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ พฤติกรรมความรุนแรงถูกปรับเปลี่ยนเป็นความประนีประนอม รู้จักรอมชอม ผู้นำชุมชนและผู้นำด้านศาสนาซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ ก็มีความพร้อมที่จะให้คำปรึกษาหากผู้นำครอบครัวพบปัญหาที่แก้ไม่ตก

“หัวใจสำคัญที่ทำให้สำเร็จ เกิดจากการที่เราเสริมศักยภาพแกนนำอาสาสมัครคนในชุมชน โดยเฉพาะเหล่าผู้นำทางความคิดในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นครู โรงเรียน ครู ครูศาสนา อสม. เราเสริมองค์ความรู้ เทคนิคการให้คำปรึกษา เขาสามารถสร้างความเข้าใจภายในครอบครัว และส่งต่อความเข้าในนั้นสู่ชุมชนเป็นลูกโซ่ หรือเครือข่าย คนกลุ่มนี้สามารถวิเคราะห์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เขารู้ว่าทักษะการส่งต่อในขั้นต้นควรทำอย่างไร หลังจากส่งแล้วติดตามผลอย่างไร ทำให้เขาสามารถแก้ไขปัญหาได้เอง ยืดหยัดด้วยตนเองได้ ในระยะต่อไปจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของแกนนำชุมชน กลุ่มภาคี โดยอาจเพิ่มระยะเวลาการอบรมและสอนวิธีการส่งต่อองค์ความรู้แก่คนรุ่นต่อไป ”

คุณอุสมะห์ ลาเฮศักดิ์สิทธิ์ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย จังหวัดปัตตานี
จากบทสัมภาษณ์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
สัมภาษณ์โดย คุณจารุปภา วะสี

บทสัมภาษอื่น ๆ