ถ้าตัวเองเปลี่ยน…คนรอบข้างจะเปลี่ยน…เริ่มต้นที่ “การฟังด้วยหัวใจ”

“ การอบรมเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของเราเอง ทำให้เราเห็นปัญหาเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้เราเห็นโครงสร้างของระบบที่เราเจอ เราเรียนรู้จากการอบรมครั้งนี้ ได้ลองทำสิ่งใหม่แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลได้ชัดเจน จากเมื่อก่อนเราไม่ค่อยฟังคนไข้ คิดแต่จะจ่ายยาอย่างเดียว แต่ตอนนี้เรารู้จักรับฟังเขา ทำให้เขาพร้อมที่จะเปิดใจคุยกับเรามากขึ้น ”

คุณนภาภัช ควรดี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนารุ่ง อำเภอศีขรภูมิจังหวัดสุรินทร์ หนึ่งในผู้ผ่านการอบรมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ความสนใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงเป็นตัวจุดประกายให้เธอเข้าร่วมกับแผนสุขภาวะผู้หญิงและอบรมการให้คำปรึกษา

จากสภาพปัญหาในพื้นที่และคนพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา สังคมผู้หญิงกัมพูชาปลูกฝังผู้หญิงรับผิดชอบงานหนัก ผู้หญิงที่ดีต้องอดทนแม้ว่าจะถูกกระทำความรุนแรงมากเพียงใดก็อย่าเล่าให้ผู้อื่นฟัง นำไปสู่ปัญหาโรคซึมเศร้าจากการที่ต้องเผชิญทั้งสภาวะความรุนแรง และความเครียด จนปรากฏลักษณะทรอมาร์ (trauma) เป็นความรุนแรงภายในที่ปะทุออกมาในรูปแบบการเจ็บป่วยทางกาย

“เดิมทีเราเห็นสภาพเขาแล้วคิดแต่จะจ่ายยาอย่างเดียว การอบรมทำให้เราเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน จากเมื่อก่อนเราถูกฝึกให้อดทน แต่ครั้งนี้เราถูกฝึกให้รู้จักรับฟังและพยายามเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น นอกจากนี้เรารู้สึกได้ว่าเรามีความกล้ามากขึ้น กล้าที่จะเข้าไปช่วยเหลือ เข้าไปช่วยแก้ปัญหา จากเมื่อก่อนที่ไม่อยากยุ่งเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว พอความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเกิดขึ้น เรามีความคิดและความกล้าที่จะเข้าไปช่วยถ้าเราไม่กล้าก็เท่ากับปล่อยปละละเลยเขา และอาจอันตรายถึงแก่ชีวิต”

นอกจากการรู้จักเข้าถึงใจผู้อื่นและความกล้าแล้ว ทักษะการให้คำปรึกษาก็เป็นสิ่งที่เธอได้รับจากการอบรมครั้งนี้

“หัวใจหลักน่าจะเป็นเรื่องของการฟัง ฟังโดยไม่ตัดสิน ตำหนิหรือตีตรา เรารู้แล้วว่าคนทุกคนมีศักยภาพในการจัดการปัญหาของตนเอง เขาเพียงต้องการคนที่เข้าใจและรับฟังเขาเท่านั้น ทักษะการฟังจึงจำเป็นสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนไข้ทั่วไป คนไข้เรื้อรัง หรือจิตเวช หลักการอีกอย่างคือการเรียนรู้ผ่านชีวิตเขา ตัวอย่างเช่น เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงจะเข้าใจเรื่องนี้เร็ว เพราะเป็นประสบการณ์ตรงของพวกเธอเอง จากนั้นเขาก็จะช่วยเหลือกัน รู้วิธีรับฟังและโอบอุ้มประคับประคองให้ผู้ถูกกระทำยังยืนหยัดได้ในสังคม”

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตของคุณนภาภัช มิใช่แค่เพียงการได้รับความไว้วางใจจากผู้หญิงในพื้นที่ที่เธอปฏิบัติงานเท่านั้น เธอรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ‘ภายใน’ ตัวเธอเองเช่นกัน

“ทำงานเรื่องนี้มาสี่ห้าปี เราพอใจมาก เพราะไม่ได้เปลี่ยนแค่คนรอบข้างเท่านั้นนะ เราก็เปลี่ยนด้วย รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแล้วคนรอบข้างเปลี่ยนตาม รู้สึกพอใจและมีความสุขกับสิ่งที่เราทำ กล้าที่จะทำงานนี้ จากเมื่อก่อนเขามองเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นผู้รักษาขั้นพื้นฐาน ฉีดวัคซีน จ่ายยา ทำแผล แต่เดี๋ยวนี้เขามาหาเราด้วยหลายๆ อย่าง เช่น ถามว่างานเป็นอย่างไร มาพูดคุย เวลาเราออกไปชุมชนก็เหมือนคุยกันได้ง่ายมากขึ้น เขาก็บอกในสิ่งที่บางเรื่องเราไม่คิดว่าจะกล้าบอก ถือว่าเป็นความสุขที่เขากล้าพูด จะช่วยได้หรือไม่ได้ก็ไม่แน่ใจ แต่เราได้ช่วยเขา ไม่ได้นิ่งดูดาย พอให้คำปรึกษาเราก็มีการติดตามผลอยู่เนือง ๆ เรียกได้ว่าเหมือนเป็นเพื่อนกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกันไปแล้ว”

เมื่อได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงเกิด ‘ โครงการสุขภาวะผู้หญิงทอผ้าจังหวัดสุรินทร์ ‘ ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างรายได้และเสริมความเข้มแข็งให้กับสมาชิกในชุมชน

“ตอนแรกเรามองภาพไม่ออกเลยว่าโครงการนี้จะออกมาเป็นยังไง พอลงมือทำแล้วเราได้คลุกคลีกับผ้าไหม ได้รู้จักและรักในเสน่ห์ของผ้าไหม เห็นคุณค่าของคนทำ ความยากลำบากในการทำ จุดนี้ก็ทำให้เราฉุกคิดได้ว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อลดความเสี่ยงแก่พวกเขา ความเสี่ยงในที่นี้คือความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมี เราจึงบอกเขาให้หาอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีและใช้สีธรรมชาติ เขาก็ทำเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ แม้จะมีข้อจำกัดบ้าง แต่ก็ดีใจที่เห็นเขาเปลี่ยนเพื่อรักษาสุขภาพของตนเอง”

จากประสบการณ์ทำงานของคุณนภาภัชแสดงให้เห็นว่าการทำงานกับชุมชนคือการที่ต้องเข้าไปคลุกคลี ทำความรู้จักกับความเป็นชุมชน ตลอดจนมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเธอกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไปเลยก็ว่าได้ วิธีการดังกล่าวทำให้สมาชิกชุมชนยอมปรับลดพฤติกรรมอันเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาวะอนามัย มีความพร้อมสำหรับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

คุณนภาภัช ควรดี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนารุ่ง อำเภอศีขรภูมิจังหวัดสุรินทร์
จากบทสัมภาษณ์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
สัมภาษณ์โดย คุณจารุปภา วะสี

บทสัมภาษอื่น ๆ