การพูดคุย แบ่งปันกันได้ทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องเพศ เป็น “ภูมิคุ้มกันของครอบครัวและชุมชน”

ปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น ยังคงเป็นเรื่องที่ปรากฏให้ได้ยินได้เห็นอยู่บ่อย ๆ จนเป็นภาพชินตาในสังคมไปแล้ว ปัญหาดังกล่าวทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหานี้ ว่าอาจเป็นไปได้ที่จะมาจากตัววัยรุ่นเองล้วนๆ สภาพสังคม การได้รับความรู้เรื่องเพศศึกษาไม่เพียงพอ หรือจะเป็นนความเปราะบางในระดับสถาบันครอบครัว ?

ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ปัญหานี้ได้ทำให้ คุณจงรักษ์ สีหะวงษ์ ผู้ประสานงานกลุ่มโฮมฮัก โฮมแพง แบ่งปัน ตำบลจานลาน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ ตระหนักถึงผลกระทบและพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น จึงได้เข้าร่วมทำงานกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา เพื่อเรียนรู้วิธีการปรับฐานคิดผู้นำชุมชน ทำให้พ่อแม่เปิดใจรับฟังลูก และลูกกล้าที่จะเข้ามาปรึกษาปัญหากับพ่อแม่ได้

“จากประสบการณ์ตรงของเราเอง ลูกของเราประสบปัญหาท้องไม่พร้อม ตอนนั้นเขาอยู่มหาวิทยาลัย แฟนเขาก็ยังดูแลกัน แต่เราเองกลับรับไม่ได้กับการท้องของลูก จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการสุขภาวะผู้หญิงและปรับฐานคิดกับพี่อวยพร เรามองว่าชุมชนเองก็มีส่วนทำให้เรารับไม่ได้ ดังนั้น การจะปรับฐานคิดจึงไม่ได้มีเพียงแค่เราหรือครอบครัวเราเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทุกครอบครัวที่อยู่ในชุมด้วย”

‘การใช้อำนาจตนเอง’ เป็นสิ่งที่หลายคนอาจกระทำไปโดยไม่รู้ตัว หลาย ๆ ครอบครัวรักลูกจริง แต่ในความรักก็ยังมีความคาดหวังเจือปนอยู่ พ่อแม่หลายคนหวังให้ลูกเป็นได้อย่างใจตน กำหนดกรอบ กำหนดทางเดินให้ลูก การใช้อำนาจตนเองไม่ได้เกิดเฉพาะระดับครอบครัวเท่านั้น ในระดับชุมชนก็มีการใช้อำนาจของตนเองในรูปแบบการที่ผู้นำชุมชนมีการคิดและตัดสินใจแทนสมาชิกชุมชนด้วย

“เราอยากทำประเด็นท้องไม่พร้อม เพราะเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญร่วมกันทั้งครอบครัว ไม่ใช่เฉพาะลูกเท่านั้น ความคิดอะไรที่เราสามารถปรับได้ก็ควรเริ่มต้นปรับที่ตัวเราก่อน การปรับฐานคิดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป จึงคิดว่าควรมีกลุ่มอะไรสักอย่างเพื่อที่จะมาทำงานประสานความเข้าใจในครอบครัวและแก้ปัญหาตรงนี้ เกิดเป็นโฮมฮักขึ้นมา แรกเริ่มมีสมาชิกทั้งหมด 5 คน คือพ่อ แม่ พี่นาง ผู้ใหญ่บ้านและเพื่อนอีกคนหนึ่ง ภารกิจหลักของเราก็เพื่อสร้างความเข้าใจในครอบครัว และให้คนในครอบครัวตระหนักถึงปัญหาโดยมุ่งวิธีการหาสาเหตุ ร่วมกันแก้ไข มิใช่การลงโทษ”

กลุ่มโฮมฮัก นับวันยิ่งเปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ มีการเพิ่มจำนวนสมาชิกและได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งต่าง ๆ จากการทำโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2556 ผลสัมฤทธิ์ของโครงการคือการได้เห็นตัวเลขสถิติวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี

ก้าวต่อไปของโครงการนอกเหนือจากการสร้างความเข้าใจอันดีภายในครอบครัวและการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนแล้ว ทางกลุ่มโฮมฮักก็ได้ขยับขยายโครงการเข้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในอำเภอพนาอีกด้วย

“ปัญหาในชุมชนไม่ใช่แค่ปัญหาท้องไม่พร้อม เราอยากให้องค์กรของเรามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาเหล่านั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่ปฏิบัติงานได้ให้ความสนใจและมีคุณครูหลายท่านเข้าร่วมโครงการ อยากมาเรียนรู้งานกับเราแล้วบังเอิญว่าจุดประสงค์ของโฮมฮักสอดคล้องกับธรรมนูญสุขภาพของอำเภอพนาด้วย ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเขาต้องการให้ธรรมนูญสุขภาพของอำเภอพนาเป็นแผนงานที่สามารถใช้ได้จริงในระยะยาว ทำให้มีทีมงานของเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมนูญสุขภาพด้วย ”

กลุ่มโฮมฮัก ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการดำเนินการและการได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชน ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวัดอย่างเป็นรูปธรรม สามารถวัดได้จากการเติบโตของโครงการและการลดลงของตัวเลขสถิติการท้องไม่พร้อมในพื้นที่ปฏิบัติการ ส่วนแบบนามธรรมนั้นเห็นจะเป็นทัศนคติที่มีต่อปัญหาดังกล่าวเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สมาชิกในชุมชน สมาชิกในครอบครัวมีความเข้าใจ พร้อมคิดแก้ไขปัญหา ทำให้วัยรุ่นกล้าที่จะเข้ามาปรึกษาปัญหาต่าง ๆ กับทางบ้าน ทำให้พวกเขามีภูมิคุ้มกันทางใจมากขึ้น

“ หัวใจของความสำเร็จของงาน เมื่อครอบครัวทั้งพ่อแม่และเด็กอยู่ด้วยกัน พวกเขาพูดคุยเปิดใจแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เด็กสามารถบอกปัญหาที่เจอกับพ่อแม่ได้ ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในครอบครัวได้เป็นอย่างดี ตัวเด็กเขามีภูมิคุ้มกัน เกิดการเรียนรู้ในแง่ของทักษะชีวิต รู้จักป้องกันตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือ เขาสามารถวางใจได้ว่าเขามีครอบครัว และชุมชนช่วยเป็นเกราะป้องกันสร้างเสริมความมั่นคงทางใจได้อีกชั้นหนึ่ง ”

คุณจงรักษ์ สีหะวงษ์ ผู้ประสานงานกลุ่มโฮมฮัก โฮมแพง แบ่งปัน ตำบลจานลาน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ
จากบทสัมภาษณ์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
สัมภาษณ์โดย คุณจารุปภา วะสี

บทสัมภาษอื่น ๆ