“จริงๆ แล้วคนของเรามีความรักความเอื้ออาทร มีความจริงใจต่อกันอยู่แล้ว แต่ตัวโครงสร้างสังคมต่างหากทำให้คนเป็นทุกข์ ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวโครงสร้างสังคมซอฟท์ลง คนของเราจะอยู่อย่างมีความสุขมากขึ้น พี่คิดและพยายามทำแบบนั้น เพราะพี่ไม่ได้มองว่าหญิงหรือชายใครดีหรือไม่ดี ประเด็นสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้โครงสร้างสังคมวางให้หญิงและชายเท่ากัน”
คุณรัศมี ทอศิริชูชัย
กรรมการเครือข่ายสตรีม้งแห่งประเทศไทย ผู้ผ่านการอบรมฐานคิดความเป็นธรรมทางเพศ และเป็นผู้จัดทำโครงการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกฎจารีตที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและครอบครัว ได้มองเห็นปัญหาของสังคมม้งซึ่งมีวัฒนธรรมที่สืบทอดเชื้อสายตระกูลทางฝ่ายชาย ในขณะที่ผู้หญิงเป็นคนเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละตระกูล ดังนั้น ผู้หญิงจึงเป็นฝ่ายแต่งงานออกไปอยู่กับครอบครัวผู้ชาย หากมีกรณีการหย่าร้างหรือสามีเสียชีวิต ผู้หญิงที่ผ่านการแต่งงานแล้วนั้นจะไม่สามารถกลับมาเข้ามาอยู่ในครอบครัวเดิมได้อีก จึงทำให้ผู้หญิงม้งมีความทุกข์ที่เกิดจากกฎจารีตและวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่มีมาอย่างยาวนานในสังคมม้ง คำถามคือจะทำอย่างไรให้โครงสร้างวางให้หญิงและชายเท่ากัน
คุณรัศมีได้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องของผู้หญิงชนบทกับกฎหมาย และเข้าใจว่าสังคมชายเป็นใหญ่เป็นอย่างไร ซึ่งใช่ว่าผู้ชายทำร้ายหรือกดขี่ผู้หญิงเสมอไป หากแต่สังคมยกย่องให้อำนาจแก่ผู้ชายในการควบคุมสังคม ดูแลผู้หญิง นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เรื่องฐานคิดความเป็นธรรมทางเพศจากอาจารย์อวยพรที่บ้านดิน จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ได้มองเห็นตัวเองจากข้างในทะลุปรุโปร่งไปถึงสังคม สิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่ความรุนแรง และอีกหนึ่งโอกาสที่ดีคือได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศอินเดียและเกิดแรงบันดาลใจว่า “สิ่งที่จะกลับมาต่อสู้คือการขออิสรภาพความเป็นคน”
“เราเห็นความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก หรือความรักของลูกที่มีต่อแม่ เราจึงมองว่าความรักเป็นทุนของสังคมอยู่ที่มีแล้ว ดังนั้น เรื่องที่พี่ติดอาวุธให้กับคนทำงานคือเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง เราไม่พูดถึงสิทธิ แต่เราใช้ความรักความเอื้ออาทร ใช้คำอธิบาย และใช้เหตุผลในการทำงาน”
การอบรมฐานคิดความเป็นธรรมทางเพศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวคนทำงานคือ เปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน โดยใช้ความเข้าใจ ความรัก ความเอื้ออาทร ไม่ใช้ความรุนแรงในการทำงาน ซึ่งได้ผลตอบรับจากสังคมเป็นอย่างดี ไปที่ไหนก็จะมีคนอยากพูดคุย อยากต้อนรับ เขาไม่มองคนทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมว่าเป็นศัตรูหรือคนที่มีจุดยืนตรงข้ามกับเขา โดยเฉพาะการทำงานเพื่อเปลี่ยนกฎจารีตและวัฒนธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทาย
สิ่งที่เป็นกำลังใจและแรงบันดาลใจที่สำคัญในช่วงเริ่มต้นการทำงานคือ ผู้อาวุโสที่เป็นผู้นำพิธีกรรมในชุมชนให้การตอบรับที่ดี “ผู้หญิงต้องเป็นคนขยับ เจ็บตรงไหนปวดตรงไหนแล้วไม่บอก เขาก็ไม่รู้ ถ้าบอกว่ามีปัญหาตรงไหน พวกเขาเต็มใจที่จะมาช่วยพวกเราทำ”
หลังจากเริ่มต้นไปได้ดีแล้ว คณะทำงานได้เจาะกลุ่มผู้หญิงที่หย่าร้างกลับมาอยู่บ้านพ่อแม่นานแล้ว แต่ไม่สามารถร่วมพิธีกรรมกับพ่อแม่ได้ ไม่สามารถทำกิจกรรมทางศาสนากับครอบครัวได้ เราเอาความคิดนี้ไปคุยกับผู้นำพิธีกรรม ผู้นำบอกว่า
“สังคมม้ง วิธีการเหล่านี้คนม้งมีอยู่แต่ตกหล่นหายไป ลูกสาวออกไปแต่งงาน เรามอบจิตวิญญาณและร่างกายให้ผู้ชายไป ตอนกลับมาก็เอาตัวผู้หญิงกลับมาแล้วแจ้งให้ทางบ้านของเรารับจิตวิญญาณผู้หญิงกลับมาด้วยแค่นั้น ผู้หญิงก็จะกลับมาเป็นคนของบ้านนี้ได้เหมือนเดิม”
ผลจากการทำโครงการนี้กระจายไปถึงพี่น้องม้งทั้งในและต่างประเทศ ในประเทศไทยคณะทำงานได้เข้าไปได้ 6-7 จังหวัดและมี 40 กว่าหลังคาเรือนที่เปลี่ยนพิธีกรรม มีหนึ่งตระกูลแซ่ที่ยอมรับและเปลี่ยนระบบของเขาทั้งหมด
“สำหรับก้าวต่อไป เราจะพยายามให้ความรักและความเข้าใจไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เราจะทำงานมีสามกลุ่ม คือคนที่เห็นด้วย กลุ่มที่ยังมีท่าทีเฉยๆ และกลุ่มที่ต่อต้าน กลุ่มที่เห็นด้วยมักจะเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาด้วยตนเอง เขาจะลุกขึ้นมา ค้นหา ติดตามว่าโครงการนี้ทำงานประเด็นอะไร และรับพิธีกรรมนี้ไปทำในครอบครัว ส่วนกลุ่มคนที่ยังมีท่าทีเฉยๆ หรือต่อต้าน เราก็จะพยายามสื่อสาร รณรงค์ ทำความเข้าใจ ให้ได้มากที่สุด”
จากบทสัมภาษณ์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
สัมภาษณ์โดย คุณจารุปภา วะสี