“หลายครั้งที่การคิดแทนผู้อื่น นำไปสู่การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด การเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และพยายามทำความเข้าใจผู้อื่นให้มากขึ้น อาจเผยให้เห็นทางออกของปัญหาที่มักถูกมองข้ามคล้ายเส้นผมบังภูเขา”
คุณนิตยา มุทามาศ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว คุณอัญชุลีกร ฤทธิรงค์ นักจิตวิทยา บ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดตรัง หรือคุณชุและคุณเอื้อย ทั้งคู่ผ่านการอบรมการให้คำปรึกษาเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพแนวสตรีนิยม ซึ่งจัดโดยแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ณ บ้านดิน จังหวัดเชียงใหม่ จากการเข้าร่วมโครงการครั้งนั้นทั้งสองท่านได้นำเอาองค์ความรู้พิจารณาการทำงานที่ผ่านมา และได้เรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ คนส่วนใหญ่รวมถึงเราด้วย จะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เวลาเรามองคนอื่นก็มักตั้งคำถามว่าทำไมไม่เป็นอย่างใจฉัน ใช้ตัวเองเป็นหลัก หลังผ่านการอบรม เรามองผู้ประสบปัญหาอย่างเข้าใจมากขึ้น พอมีคนเข้าใจเขา เขาก็เปิดตัวเองมากขึ้นเช่นกัน ”
ก่อนหน้านั้นศาสตร์ด้านจิตวิทยาเป็นสิ่งที่คุณชุมองข้ามมาโดยตลอด หลังจากได้เรียนรู้และทดลองนำไปปรับใช้ปลดล็อคในใจตนเองแล้ว ยังสามารถเข้า(ถึง)ใจผู้อื่นโดยการรู้จักรับฟังผู้อื่นให้มากขึ้นด้วย
“ ในทางจิตวิทยาบอกว่าเราต้องเคารพศักดิ์ศรีมนุษย์ อัตลักษณ์ของบุคคล พอทำงานซ้ำๆ กับคนที่มีปัญหา เราก็ตีค่าเขา หลังกลับจากบ้านดินเราคุมใจตัวเองได้ นิ่งและพร้อมรับฟังเขา แต่ก่อนถ้าผู้รับมาร้องไห้ เราก็ร้องตาม ตอนนี้เราฟังได้ดีขึ้นเพราะอาจารย์สอนการกำหนดจิตผ่านการกำหนดลมหายใจ แถมสุขภาพดีขึ้น น้ำหนักลดลง ร่างกายสมดุลขึ้นพร้อมทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ”
หลังจากคุณเอื้อยให้บริการรับคำปรึกษาอีกครั้งพบว่า ผู้เข้ารับบริการสามารถมองเห็นคุณค่าในตนเองชัดเจนขึ้น จากแต่ก่อนที่มักโยงปัญหาความรุนแรง การถูกทำร้ายร่างกายเข้ากับเรื่องของเวรกรรมเพื่อให้หมดข้อกังขาในใจ เมื่อได้สำรวจตรวจตราต้นตอของปัญหา กลับพบความเกี่ยวโยงระหว่างวงล้อเกี่ยวกับอำนาจ-ความรุนแรง กับวงล้อเรื่องสังคม ประเพณี ทัศนคติและวัฒนธรรมการเลี้ยงดู ซึ่งวงล้อทั้งสองเป็นเหตุขับเคลื่อนความรุนแรงให้เกิดขึ้น ทั้งในรูปแบบความรุนแรงเชิงโครงสร้างระหว่างชาย-หญิง และความรุนแรงในครอบครัว
“บ่อยครั้งที่เราเห็นปัญหาความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายในครอบครัว แต่ก็ยังอยู่ด้วยกัน แต่ก่อนเราจะมุ่งส่งความเห็นอกเห็นใจไปยังผู้ถูกกระทำ แต่วงล้อเรื่องอำนาจทำให้เรามองทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำด้วยความเห็นใจ คิดหาสาเหตุของการกระทำเช่นนั้น เมื่อเรามีความเข้าใจทั้งสองฝ่าย เขาก็กล้าที่จะเปิดใจคุยกับเรามากขึ้น เราคิดว่าถ้าครอบครัวเขาดี สังคมก็จะดีตาม เป็นกลไกต่อเนื่องกัน”
หากจุดเริ่มต้นของสังคมที่น่าอยู่ มาจากหน่วยเล็ก ๆ ที่เรียกว่าครอบครัว กลุ่มคนที่ควรได้เข้าร่วมการอบรมควรเป็นคนในครอบครัวหรือผู้ที่อยู่ในบ้านพักเด็ก ทุกคนควรได้เรียนรู้การเข้าถึงจิตใจผู้อื่น การสื่อสารเชิงบวก ตลอดจนการให้คำปรึกษา เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านความรุนแรงในครอบครัวโดยตรงคือเด็ก มิใช่เพียงพ่อหรือแม่เท่านั้น เด็กมักเลือกคุยกับคนใกล้ชิดก่อนนักจิตวิทยาหรือนักสังคม ดังนั้น คนในครอบครัวหรือผู้เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรงควรได้เข้าร่วมอบรม ซึ่งเป็นการอบรมในรูปแบบที่เน้นให้ความรู้ความเข้าใจไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติจริง ทำให้มองเห็นเหตุปัจจัยของปัญหาได้อย่างทะลุปรุโปร่ง หากหลาย ๆ ฝ่ายมีความเข้าใจตรงกันและพร้อมหาทางออกร่วมกันแล้ว การยุติวงล้อแห่งความรุนแรงก็อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่เกินตัวอีกต่อไป
คุณนิตยา มุทามาศ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดตรัง
คุณอัญชุลีกร ฤทธิรงค์ นักจิตวิทยา บ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดตรัง
จากบทสัมภาษณ์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
สัมภาษณ์โดย คุณจารุปภา วะสี