จากผลการสำรวจคุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานหญิงในองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล (2557) พบว่าพนักงาน ขสมก. มีชั่วโมงการทำงานบนรถที่ยาวนาน ต้องทำงานล่วงเวลาเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลทำให้พนักงาน ขสมก.ส่วนใหญ่มีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ พนักงานจำนวนมากถึงร้อยละ 94.3 ระบุว่าตนเองมีความเครียดจากสภาพการจราจรติดขัด มีความเครียดจากความอ่อนล้าในการทำงาน ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ สำหรับด้านสุขภาพร่างกาย และแม้ว่าตามระเบียบของ ขสมก.จะระบุช่วงเวลาของการทำงานไว้เพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน มีระยะเวลาในการพักระหว่างเที่ยวรถ 30 นาที แต่ด้วยสภาพการจารจรติดขัดและจำนวนพนักงานไม่เพียงพอ ทำให้พนักงานไม่สามารถพักหรือเลิกงานตามเวลาที่กำหนดได้
จากสภาพปัญหาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือจัดทำ “โครงการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ตุลาคม 2557 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา และแผนงานลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบภายใน ขสมก. เพื่อให้พนักงานมีสุขภาวะที่ดีขึ้น มีชีวิตที่มีความสุข และสามารถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการดำเนินโครงการระยะต่อไป 18 เดือนข้างหน้านี้ (1 กันยายน 2559 – 31 กุมภาพันธ์ 2561) เป็นภาคปฏิบัติการที่ต่อเนื่องจากการวิจัยในระยะที่ผ่านมา โดยแบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง เน้นปฏิบัติการเชิงลึกเพื่อสร้างความตระหนัก และปรับเปลี่ยนสู่พฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพสำหรับพนักงานในพื้นที่นำร่อง 2 พื้นที่ ได้แก่ เขต 3 และเขต 6 ส่วนที่สอง เน้นการเสริมศักยภาพแกนนำพนักงานและฝ่ายบริหารในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ และการพัฒนางานสื่อสาร เผยแพร่ และรณรงค์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงาน ขสมก. ครอบคลุมทั้ง 8 เขตการเดินรถและสำนักงานใหญ่ ตลอดจนร่วมกันผลักดันนโยบายและแผนปฏิบัติที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงาน ขสมก.
ทั้งนี้ การทำงานทั้งสองส่วนจะมีการดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน และมีการบูรณาการงานร่วมกัน เพื่อเป้าหมายร่วมในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของพนักงาน ขสมก. นั่นคือ องค์การขนส่งมวลชลกรุงเทพ (ขสมก.) มีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบภายในองค์การ เอื้อให้พนักงานขององค์การมีสุขภาวะที่ดีขึ้น มีชีวิตที่มีความสุข สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลักดันให้ ขสมก. เป็นองค์กรตัวอย่างในด้านการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงาน