เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมม้งแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “ประกาศรับรองพิธีกรรมผู่เพ่ื่อรับลูกสาวกลับบ้าน” เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560 ที่หอประชุมโรงเรียนรวมไทยพัฒนา 2 อ.พบพระ จ.ตาก โดยในงานมีการลงนามร่วมกันของผู้นำตระกูลแซ่ชาวม้งในประเทศไทย เพื่อประกาศนำร่องยอมรับพิธีกรรมดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ครอบครัวชาวม้งในตระกูลแซ่ต่าง ๆ สามารถรับลูกสาวที่ประสบปัญหาครอบครัวกลับคืนสู่บ้านได้โดยไม่ผิดกฏจารีตอีกต่อไป โดยในงานดังกล่าวมีผู้นำ สตรี และครอบครัวชาวม้งมาร่วมงานในครั้งนี้กว่าสองร้อยคน
ที่มาของการจัดเวทีรับลูกสาวกลับบ้าน เริ่มจากการที่สังคมม้งซึ่งเป็นสังคมที่ยึดถือระบบตระกูลแซ่ ปัจจุบันมี 18 ตระกูลแซ่ทั่วโลก (ในประเทศไทยมีอยู่ 15 ตระกูลแซ่) มีวัฒนธรรมการสืบทอดสายตระกูลผ่านทางฝ่ายชาย แต่ละตระกูลแซ่จะมีเครือญาติต่างแซ่ได้ ก็โดยอาศัยผู้หญิงเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ผ่านการแต่งงาน โดยเมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้องถูกตัดขาดจากตระกูลแซ่เดิมของตน ย้ายไปอยู่บ้านฝ่ายชาย เข้าไปเป็นสมาชิกของตระกูลแซ่ฝ่ายชาย และอยู่ภายใต้การคุ้มครองของผีบรรพบุรุษฝ่ายชาย
หากเมื่อผู้หญิงม้งประสบปัญหาชีวิตคู่ เกิดการหย่าร้าง ถูกทอดทิ้ง หรือเป็นหม้าย พวกเธอและลูก ๆ จะถูกห้ามโดยกฎจารีตไม่ให้หวนคืนมาเป็นสมาชิกและร่วมอยู่อาศัยในครอบครัวเดิมของตนเอง เพราะจารีตม้งถือว่าหญิงดังกล่าวได้กลายเป็นสมาชิกของตระกูลอื่นไปแล้ว หากจำเป็นต้องกลับมาอยู่อาศัยในเรือนของครอบครัวเดิม ก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดผี ห้ามหญิงดังกล่าวเข้าร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ ของครอบครัว และไม่อนุญาตให้ป่วยเจ็บหรือเสียชีวิตอยู่ภายในบ้าน
โครงสร้างความสัมพันธ์และการแต่งงานเช่นนี้ ได้สร้างปัญหาให้ผู้หญิงชาวม้งที่หย่าร้าง เป็นหม้าย ถูกสามีทอดทิ้ง และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มีลูกโดยไม่ได้แต่งงาน ทำให้พวกเธอกลายเป็นคนไม่มีตระกูลแซ่ ไม่มีผีบรรพบุรุษคุ้มครอง กลายเป็นคนที่ไม่มีพื้นที่ทางสังคม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ ส่งผลกระทบทั้งทางจิตใจ สังคม และเศรษฐกิจของผู้หญิงและลูก ๆ ที่ติดมาจากการหย่าร้าง เป็นหม้าย หรือถูกทอดทิ้งด้วย
เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย ที่เริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยกลุ่มสตรีม้งจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็น ศูนย์รวมของผู้หญิงม้ง ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง และหาทางออกให้กับปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้หญิงม้งเผชิญอยู่ มีการจัดการประชุมสตรีม้งเพื่อสร้างพื้นที่พบปะ แบ่งปันสภาพปัญหา และสร้างเสริมพลังให้ผู้หญิงม้งหลายครั้ง
ต่อมาในปี 2555 เครือข่ายสตรีม้งฯ ได้ริเริ่มดำเนินโครงการร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการดังกล่าวมุ่งแก้ไขปัญหาจากกฎจารีตที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและครอบครัวชาวม้ง มีการค้นหาวิธีการทำงานเพื่อแก้ปัญหา โดยเริ่มจากการชักชวนผู้หญิง ผู้นำชุมชน ผู้นำตระกูลแซ่ และผู้นำพิธีกรรมจำนวนหนึ่ง ในชุมชนนำร่องที่บ้านแม่สาน้อย และแม่สาใหม่ ต. โป่งแยง อ.แม่ริม จ. เชียงใหม่ มาร่วมทำการวิจัยหาข้อมูลสภาพปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและครอบครัวชาวม้ง และแสวงหาทางออกร่วมกัน โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) ที่มีผู้หญิงและผู้นำชุมชนชาวม้งเป็นกำลังหลักในการทำวิจัย และมีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและวัฒนธรรมชาวม้ง จากมหาวิทยาลับมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการด้วย
ผลการวิจัยพบว่าสภาพปัญหาที่ผู้หญิงและครอบครัวชาวม้งเผชิญอยู่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีหรือกฎจารีต มีอยู่หลายประการ แต่เพื่อความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน กลุ่มนักวิจัยได้เลือกหยิบยกปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการแก้ไขก่อน จำนวน 3 ข้อ ขึ้นเป็นประเด็นหลักในการทำงาน ได้แก่
1) ข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงม้งที่แต่งงานแล้วหย่าร้าง เป็นหม้าย หรือถูกสามีทอดทิ้ง กลับคืนสู่ครอบครัวเดิม
2) ข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงม้งที่มีลูกโดยไม่ได้แต่งงาน (หญิงท้องนอกสมรส) อยู่อาศัย คลอดลูก ป่วย หรือตายในบ้านพ่อแม่ของตนเอง
3) ข้อห้ามไม่ให้แม่ชาวม้งที่ไม่มีลูกชาย มาพักพิงอาศัยอยู่ในบ้านของลูกสาวและลูกเขยในวัยชรา เพราะถือว่าเป็นคนต่างตระกูลแซ่ที่อาจมาเจ็บป่วยและเสียชีวิตในบ้านของตระกูลแซ่อื่น (ตระกูลแซ่ลูกเขย)
ปัญหาทั้งสามข้อดังกล่าว มีจุดร่วมคือ การไม่อนุญาตให้ผู้หญิงม้งที่ถูกตัดขาดจากตระกูลแซ่หรือสายสัมพันธ์ในครอบครัวเดิม สามารถกลับคืนสู่บ้านเดิมหรือสู่สายสัมพันธ์เดิมได้ ทำให้ผู้หญิงทั้งที่เป็นลูกสาว แม่ รวมทั้งลูกที่ติดมากับผู้หญิงที่หย่าร้าง เป็นหม้าย หรือถูกทอดทิ้ง ไม่มีตระกูลแซ่ที่จะสังกัด หรือไม่มีที่พักพิงอาศัย