เมื่อวันที่ 20-21 มี.ค. 2558 แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯร่วมสนับสนุนการจัด ประชุมเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย ครั้งที่ 6 ภายใต้โครงการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกฎจารีตม้งที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว ณ โรงเรียนมัธยมปากกลาง อ.ปัว จ.น่าน โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเรื่องการปรับเปลี่ยนกฎจารีตของชาวม้งที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและครอบครัว โดยมีสตรีม้งจากทั่วประเทศและชาวม้งจากสหรัฐ ลาว และเวียดนาม มาร่วมประชุม กว่า 400 คน
สำหรับเครือข่ายสตรีม้งฯ ได้รวมตัวกันมานานนับ 10 ปี เพราะมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง บรรเทาความทุกข์ของผู้หญิงม้งที่ประสบ โดยเฉพาะความทุกข์ที่เกิดจากจารีตประเพณี เกี่ยวกับครอบครัวและการแต่งงาน ส่งผลกระทบหลายรุ่นต่อหลายรุ่น ทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องละทิ้งเครือญาติและชุมชนตัวเอง ออกมาหาเลี้ยงชีพและเผชิญชีวิตในเมืองใหญ่ โดยกฎจารีตของชาวม้งกำหนดไว้ว่า ผู้หญิงจะต้องได้รับการดูแลคุ้มครองจากผู้ชายเสมอ ตอนเด็กๆ ก็จะได้รับการดูแลจากครอบครัว จากพ่อ เมื่อโตขึ้น แต่งงาน ก็จะอยู่ภายใต้การปกครองของสามี ที่สำคัญไปกว่านั้น เมื่อสามีเสียชีวิตก็ต้องอยู่ในความดูแลของลูกชายต่อไป และกำหนดให้ลูกชายเป็นผู้สืบตระกูลและรับมรดกของพ่อแม่ ขณะที่ลูกสาวจะถูกปฏิบัติเหมือนเป็นแขกผู้มาเยือนครอบครัว เนื่องจากชาวม้งดั้งเดิมจะมองว่า เมื่อลูกสาวเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นก็จะต้องแต่งงานและกลายเป็นสมาชิกของครอบครัวของอีกครอบครัวหนึ่งไป ซึ่งความเชื่อลักษณะนี้ สะท้อนอยู่ในพิธีต่างๆ เช่นพิธีแต่งงานก็จะมีสัญลักษณ์ชัดเจนที่บ่งบอกถึงการตัดขาดลูกสาวที่แต่งงานออกจากครอบครัวเดิม ทั้งนี้ ตระกูลม้งในประเทศไทยจะมีประมาณ 18 ตระกูลแซ่ ที่ได้ยินกัน เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป ความมั่นคงของความสัมพันธ์ที่ถูกร้อยไปด้วยพิธีแต่งงานก็แปรเปลี่ยนไป ปัจจุบันผู้หญิงม้งก็เผชิญปัญหาครอบครัวหลายด้าน ทั้งปัญหาการหย่าร้าง การถูกใช้ความรุนแรง ถูกทอดทิ้ง สามีเสียชีวิต แต่ก็ยังมีความเชื่ออยู่ว่า ผู้หญิงม้งจะอยู่โดยปราศจากผู้ชายคุ้มครองไม่ได้ เมื่อแต่งงานออกไปแล้วจะกลับไปสู่ครอบครัวเดิมของตนเองก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ก็ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ดิ้นรนเข้าสู่การแต่งงานอีกครั้ง และแน่นอนการแต่งงานครั้งใหม่ย่อมมีเงื่อนไขไม่เป็นธรรมต่อตัวผู้หญิงเอง แต่ก็ต้องทำ เพราะหากไม่ทำก็จะถูกตีตราว่าเป็นแม่หม้าย เป็นคนไม่มีเจ้าของ ก็จะไม่สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขในชุมชนได้ อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้พยายามแก้ปัญหา โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา จะมีการแก้ไขผ่านงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในชุมชนชาวม้ง เพื่อสำรวจและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับขอบเขตของปัญหา และผลกระทบที่มีต่อผู้หญิง และแสวงหาความร่วมมือจากผู้นำตระกูลแซ่ ผู้นำทางพิธีกรรม ผู้นำชุมชนชาวม้ง ซึ่งเป็นผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมรับฟังปัญหาของผู้หญิง หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันจนเกิดเป็นความร่วมมือในการพยายามปรับเปลี่ยนกฎจารีตของชาวม้ง ที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและครอบครัว จะมีการดำเนินการวิจัย โดยในช่วงปลายปี 2256 หลังวิจัยไปได้สักพัก ก็ประสบความสำเร็จ ผู้หญิงที่แต่งงานไปแล้ว สามีเสียชีวิตหรือถูกทอดทิ้ง สามารถกลับเข้าสู่ครอบครัวเดิมได้อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับจากเครือญาติและคนในชุมชน จึงถือเป็นจุดเริ่มต้น เริ่มนำร่องแล้วที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และแน่นอนเมื่อมีการยอมรับ ก็ต้องมีคนคัดค้านจากผู้นำชาวม้ง จากคนอนุรักษ์นิยมยังคงมีอยู่ แต่ก็เป็นเสียงคัดค้านที่จางลง คงต้องให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป “การเป็นผู้หญิงม้ง ในสภาพที่เจอ เหมือนเราไม่ใช่มนุษย์ ถ้าชาติหน้ามีจริง หรือมีโอกาสได้เกิดอีกครั้ง จะไม่ขอเกิดเป็นคนม้งอีก” สาวม้งคนหนึ่งตัดพ้อไว้
ภาพประกอบข่าว : https://www.facebook.com/media/set/?set=a.371281743003507.1073741828.371128013018880&type=3