นครสวรรค์โมเดล “กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้ปฏิบัติงานสหวิชาชีพ”

ความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาสำคัญ หน่วยงานต่าง ๆ จึงพยายามหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา แต่การปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงจะไม่บรรลุผล หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เชื่อมประสานและส่งต่องานกันอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

ผู้ปฏิบัติงานสหวิชาชีพของจังหวัดนครสวรรค์ตระหนักถึงความสำคัญในการบูรณาการงานในลักษณะดังกล่าว จึงร่วมกันพัฒนาโครงการที่มุ่งบูรณาการงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างเป็นระบบ ครบวงจร และมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทางการดำเนินงาน หลายด้านควบคู่กันไป อาทิ

• กำหนดตัวผู้ประสานงานในระดับปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงาน
• สร้างช่องทาง และกำหนดขั้นตอนการสื่อสารระหว่างหน่วยงานที่ชัดเจน สะดวก รวดเร็ว
• จัดประชุมปรึกษาหารือเรื่องการจัดการกรณีปัญหาอย่างต่อเนื่อง
• เสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

นี่คือที่มาของโครงการ “นครสวรรค์โมเดล”

และเมื่อวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา โดยการสนับสนุุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้ปฏิบัติงานสหวิชาชีพ กรณีปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” ที่ห้องคริสตัล ฮอลล์ 1 โรงแรมแกนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีคณะวิทยากรจากศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก สตรี และสถาบันครอบครัว สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว สำนักงานอัยการสูงสุด ที่นำทีมโดย อัยการสาโรช นักเบศร์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 6 ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เข้าร่วมกว่า 70 คน ที่เป็นกลุ่มเครือข่ายผู้ทำงานสหวิชาชีพกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข บุคลากรด้านการศึกษา และสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

และนี่คือภาพบรรยากาศในงาน ที่เหล่าทีมสหวิชาชีพได้เรียนรู้ร่วมกัน และนำประสบการณ์จริงมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิด ความเห็นเกี่ยวกับการทำงานในเคสต่าง ๆ ด้วยกัน และหลังจบงานนี้ ทุกคนได้รับความรู้กลับบ้านกันไปอีกเพียบแน่นอน