เมื่อวันที่ 3-5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ และคณะทำงานทีมสหวิชาชีพฯ จ.นครสวรรค์ เดินทางไปศึกษาดูงานสหวิชาชีพป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ณ จังหวัดขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ 16 คน เป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในทีมสหวิชาชีพฯ จ.นครสวรรค์ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โรงพยาบาลตาคลี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด บ้านพักเด็กและครอบครัวประจำจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด จำนวน 10 คน พร้อมด้วยผู้ประเมินภายในแผนงานฯ และเจ้าหน้าที่แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ อีก 6 คน ระหว่างการดูงานมีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้แทนหน่วยงานสหวิชาชีพต่าง ๆ และแกนนำชุมชนของ จ.ขอนแก่นใน 3 จุดด้วยกัน คือ โรงพยาบาลขอนแก่น สำนักงานเทศบาลนครขอนแก่น และโรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ และแกนนำชุมชนของ จ.ขอนแก่นเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมนครสวรรค์เป็นจำนวนรวมประมาณ 60 คน
ผลการศึกษาดูงานโดยสรุป พบว่า จ.ขอนแก่นมีการดำเนินงานงานสหวิชาชีพมายาวนานเกือบ 20 ปี มีเครือข่ายแนวร่วมการทำงานที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยสมาชิกจากภาคส่วนต่าง ๆ จำนวนกว่า 80 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ชุมชน และธุรกิจเอกชน โดยเจ้าหน้าที่รัฐประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานจากหลากหลายสาขา ที่สำคัญได้แก่ สาธารณสุข สวัสดิการสังคม กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และการศึกษา โดยมีเครื่องมือการเชื่อมร้อยและสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายที่สำคัญคือ การประชุมเครือข่ายเป็นประจำสม่ำเสมอและต่อเนื่อง (ประชุมทุก 2 เดือน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545) โดยใช้ระบบเวียนให้หน่วยงานต่าง ๆ ผลัดกันเป็นเจ้าภาพและจัดสรรงบประมาณจัดการประชุมแต่ละครั้ง และใช้พื้นที่การประชุมทุกครั้งเป็นเวทีเรียนรู้ทางวิชาการสำหรับสมาชิก ด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มาให้ความรู้ตามหัวข้อที่สมาชิกต้องการ และยังกำหนดให้การประชุมดังกล่าวมีวาระประจำในเรื่อง case conference เพื่อหารือและระดมความร่วมมือในการจัดการกรณีปัญหาความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน จ.ขอนแก่นด้วย โดยการประชุมจะยึดหลักการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคของสมาชิกจากภาคส่วนต่างๆ และกำหนดขอบเขตสมาชิกภาพของเครือข่ายให้มีความยืดหยุ่น ไม่ตายตัว เพื่อรองรับการเพิ่มเข้ามาของสมาชิกใหม่จากหน่วยงานใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือผู้สนใจงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัด และมีการขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังจังหวัดใกล้เคียง
นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมประสานระหว่างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวกับโครงสร้างการบริหารระดับสูงของจังหวัด อาทิ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัด เพื่อแสวงหาการสนับสนุนในเชิงนโยบายและการบริหารจากผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ และการทำงานของเครือข่ายแนวร่วม จ. ขอนแก่น มีทั้งการทำงานเชิงรับในลักษณะของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงเป็นรายกรณี และการทำงานเชิงรุก เช่น การรณรงค์ยุติความรุนแรงประจำปี และการอบรมเด็กและเยาวชนในโรงเรียนให้มีภูมิคุ้มกันปัญหาความรุนแรงและการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เป็นต้น
ในส่วนของงานชุมชน โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครขอนแก่น พบว่าหน่วยงานปกครองท้องถิ่นได้สนับสนุนและให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายจิตอาสาเพื่อสอดส่องป้องกันปัญหาความรุนแรงในชุมชน โดยการจัดสรรทรัพยากรและเครื่องมือในการทำงานให้กับอาสาสมัครของชุมชน ทั้งในรูปของงบประมาณ เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงาน การจัดอบรมความรู้และทักษะการจัดการปัญหาความรุนแรงเบื้องต้นและแนวทางการประสานส่งต่อ และการจัดโครงสร้างหน่วยงานที่เป็นทางการรองรับในรูปของ “ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีเทศบาลนครขอนแก่น” มีการแต่งตั้งผู้ผ่านการอบรมให้เป็นอาสาสมัครของศูนย์ฯ และมีคณะกรรมการพิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีประจำแต่ละเขตย่อยของเทศบาล ปัจจุบันมีอาสาสมัครในชุมชนที่ผ่านการอบรมแล้วกว่า 1,200 คน แบ่งพื้นที่สอดส่องป้องกันปัญหา และมีกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งภายในชุมชนและกับหน่วยงานภาครัฐ มีการประชุมคณะกรรมการอาสาสมัครของศูนย์ฯ เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของเทศบาลเข้าร่วมประชุมด้วย ปัจจุบันศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีเทศบาลนครขอนแก่นมีการขยายประเด็นการทำงาน จากปัญหาความรุนแรงไปสู่ปัญหาสังคมอื่น ๆ เช่น การป้องกันปัญหายาเสพติด การช่วยเหลือผู้ยากไร้ในชุมชน และการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ของอาสาสมัคร เป็นต้น
ภาพกิจกรรมการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้แทนหน่วยงานสหวิชาชีพต่าง ๆ และแกนนำชุมชนของโรงพยาบาลขอนแก่น
ภาพกิจกรรมการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้แทนหน่วยงานสหวิชาชีพต่าง ๆ และแกนนำชุมชนของสำนักงานเทศบาลนครขอนแก่น
ภาพกิจกรรมการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้แทนหน่วยงานสหวิชาชีพต่าง ๆ และแกนนำชุมชนของโรงพยาบาลน้ำพอง
ภาพกิจกรรมการประชุมสรุปงานของคณะทำงานทีมสหวิชาชีพฯจ.นครสวรรค์