องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ “ถึงเวลาเผือก” เพื่อยับยั้งปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ระบุพลังเงียบช่วยหยุดพฤติกรรมดังกล่าวได้ พร้อมเปิดผลการวิจัยสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะในเขต กทม. ครั้งแรกของประเทศไทย เผย 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าตนเองเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ ชี้รถเมล์ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ รถตู้ และรถไฟฟ้า ครองแชมป์การลวนลามมากสุด แฉพฤติกรรมสุดหื่นที่คนมักถูกคุกคามโดยเฉพาะผู้หญิง อาทิ ใช้อวัยวะเพศถูไถร่างกาย โชว์อวัยวะเพศ หรือสำเร็จความใคร่ให้เห็น แต๊ะอั๋ง ฉวยโอกาสถูกเนื้อต้องตัว ลูบคลำ มองหน้าอก จ้องคอเสื้อ เอาตัวเบียดชิด และพูดจาแทะโลม พร้อมเสนอ 3 แนวทางให้รัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (ActionAid Thailand) ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงได้จัดงานแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง Safe Cities for Women เนื่องในวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากลปีพุทธศักราช 2560 โดยภายในงานได้มีการเปิดตัวแคมเปญ “ถึงเวลาเผือก” ที่เรียกร้องให้ประชาชนไม่นิ่งเฉยเมื่อเห็นการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นต่อหน้า โดยได้มีการจำลองสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนรถโดยสารสาธารณะที่นำเข้ามาแสดงภายในงาน พร้อมกับการนำเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง 360 องศาให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนได้สัมผัสสถานการณ์จริงอย่างใกล้ชิดผ่านแว่น Virtual Reality (VR) นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยผลงานวิจัยสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก และมีการเสวนาในหัวข้อ “เราจะสามารถยุติการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างไร” ด้วย
น.ส.รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า การจัดงานในครั้งนี้ของพวกเราก็เพื่อสร้างความตระหนักและรณรงค์ในประเด็นการยุติการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะและเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อผู้หญิงและการปฏิบัติตนของคนในสังคมต่อสถานการณ์การคุกคามทางเพศเพื่อให้เมืองเป็นที่ปลอดภัยสำหรับผู้อยู่อาศัยทุกคน ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติได้ระบุว่า การสร้างเมืองที่ปลอดภัยเพื่อทุกคน นับเป็นพื้นฐานในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามและให้คำมั่นร่วมกันกับประเทศอื่น ๆ ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 โครงการรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงจึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาการคุกคามทางเพศที่ยังมีผู้หญิงในเขตเมืองที่ใช้รถโดยสารสาธารณะจำนวนมากที่เสี่ยงหรือเคยถูกคุกคามทางเพศระหว่างเดินทางมาแล้ว นอกจากนี้เราพบว่ายังไม่เคยมีองค์กรหรือหน่วยงานใดรวบรวมตัวเลขหรือสถิติที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เราเลยได้จัดทำโครงการวิจัยสำรวจสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ปีพ.ศ. 2560 ขึ้น เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงจำนวนคนที่ถูกคุกคาม และนำตัวเลขเหล่านี้มานำเสนอเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยข้อมูลที่เราได้จากงานวิจัยสำรวจในครั้งนี้จะมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนว่าควรจะทำอะไร อย่างไรบ้างเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้
ตัวแทนองค์กรแอ็คชั่นเอดประจำประเทศไทย กล่าวต่อว่าการจัดงานในครั้งนี้ของเรา นอกจากจะเป็นการนำเสนอผลวิจัยแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับพลังเงียบที่จะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศได้ เราจะเห็นว่าในโลกออนไลน์จะมีแฮชแท็กคำฮิตว่า “#ทีมเผือก” ซึ่งหมายถึงการยุ่งหรือสนใจในเรื่องของคนอื่น ซึ่งแคมเปญของเราที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เราอยากให้ประชาชนใช้พลัง “เผือก” ให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ เรามองว่าในการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม เพราะถึงแม้ภาครัฐจะมีกล้องวงจรปิด มีช่องทางในการร้องเรียนหรือว่ามีมาตรการอะไรออกมาก็แล้วแต่ แต่ถ้าคนที่อยู่ร่วมกันในเมืองเช่น กรุงเทพมหานครไม่ช่วยเป็นหูเป็นตา ไม่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ปัญหาการคุกคามทางเพศก็อาจไม่ได้รับการแก้ไข การที่ภาครัฐมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาก็จะเป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือเพื่อนร่วมทางหรือคนที่อยู่ในเหตุการณ์อาจจะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าคนที่ตกเป็นเหยื่อไม่สามารถจะช่วยเหลือตนเองได้หรือคนที่เป็นเหยื่ออาจจะยังไม่ตระหนักด้วยซ้ำว่าตนเองกำลังถูกคุกคามอยู่ แต่ถ้าเพื่อนร่วมทางเห็นสถานการณ์และยื่นมือเข้าไปช่วยด้วยพลังเผือกของพวกเราเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคามด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เราเชื่อมั่นว่ามันจะสามารถยับยั้งปัญหาการคุกคามบนระบบขนส่งสาธารณะได้ ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนจะลุกขึ้นมาเผือกกันอย่างมีประโยชน์
น.ส.รุ่งทิพย์ยังได้ยกตัวอย่างการจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถโดยสารสาธารณะของในต่างประเทศด้วยว่า เราอยากเห็นการจัดการในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมเหมือนที่ในหลาย ๆ ประเทศเขาทำแล้วได้ผล เช่นในประเทศญี่ปุ่นมีการจัดขบวนรถไฟฟ้าสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ในประเทศอังกฤษมีการจัดตั้งสายด่วนเพื่อร้องเรียนเรื่องการคุกคามและพร้อมกันมีเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ทันทีเมื่อมีการแจ้งเหตุ นอกจากนี้ในอีกหลายประเทศยังได้มีการจัดทำแอพพลิเคชั่นสำหรับการแจ้งเหตุการถูกคุกคามหรือลวนลามทางเพศด้วย หากเรานำระบบต่าง ๆ เหล่านี้มาปรับร่วมกันและทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เราก็จะสามารถทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนได้
ด้าน ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า เหตุการณ์การลวนลามหรือคุกคามทางเพศเป็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะจำนวนมากพบเจอซ้ำ ๆ ทั้งที่ถูกคุกคามเอง หรือเห็นผู้โดยสารคนอื่นถูกคุกคาม แต่เหตุการณ์เหล่านี้มักไม่เป็นข่าวในสื่อ และในประเทศไทยก็ยังไม่มีหน่วยงานใดศึกษาหรือเก็บข้อมูลสถิติปัญหาการคุกคามทางเพศอย่างเป็นระบบ ในปีนี้ เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงจึงได้สนับสนุนให้มีการวิจัยสำรวจความชุกของปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะขึ้น โดยมีนักวิชาการจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการสำรวจผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ ทั้งหมด 1,654 คน ทั้งหญิง ชาย และเพศอื่น ๆ โดยถามเกี่ยวกับประสบการณ์ทั้งที่ตนเองเคยถูกคุกคาม และการเห็นผู้โดยสารอื่นถูกคุกคามทางเพศ พบว่า 35% หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าตนเองเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยผู้หญิงตกเป็นเป้าของการคุกคามทางเพศมากที่สุด คือ 45% ของผู้โดยสารหญิงระบุว่าตนเองเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ
ในส่วนของลักษณะพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะพบเจอมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ลวนลามด้วยสายตา เช่น มองช้อนใต้กระโปรง มองหน้าอก คิดเป็น 18.8% ของจำนวนเหตุการณ์คุกคามที่พบเจอทั้งหมด อันดับ 2ตั้งใจเบียดชิด แต๊ะอั๋ง ลูบคลำ 15.4% อันดับ 3 ผิวปากแซว 13.9% อันดับ 4 พูดจาแทะโลม เกี้ยวพาราสี 13.1% อันดับ 5 พูดลามก ชวนคุยเรื่องเพศ 11.7% นอกจากนี้ยังพบการคุกคามรูปแบบอื่นที่ถือว่าร้ายแรง เช่น ใช้อวัยวะเพศถูไถ โชว์อวัยวะเพศ หรือสำเร็จความใคร่ให้เห็น 4.6% เปิดภาพลามกหรือคลิปโป๊ให้เห็น 3% ตามตื้อ หรือสะกดรอยตาม 2.9%
ทั้งนี้ ประเภทของขนส่งสาธารณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจพบเจอการคุกคามทางเพศมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 รถเมล์ พบการคุกคามทางเพศ คิดเป็น 50% ของจำนวนเหตุการณ์คุกคามที่พบเจอทั้งหมด อันดับ 2 มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 11.4% อันดับ 3 รถแท็กซี่ 10.9% อันดับ 4 รถตู้ 9.8% อันดับ 5 รถไฟฟ้า BTS 9.6% โดยมีข้อสังเกตว่า ความถี่ของการพบเจอเหตุการณ์การคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะประเภทต่าง ๆ มักสอดคล้องกับปริมาณการใช้บริการขนส่งสาธารณะประเภทนั้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ขนส่งสาธารณะใดที่มีผู้ใช้บริการมาก ก็มักมีเหตุการณ์คุกคามทางเพศสูงมากตามไปด้วย
น่าสังเกตว่า เมื่อถามถึงวิธีการรับมือหรือตอบโต้เมื่อถูกคุกคามทางเพศ มีผู้ที่เคยถูกคุกคามใช้วิธีการนิ่งเฉย หลีกเลี่ยง หรือเดินหนี คิดเป็นความถี่ 25% ของการรับมือกับการคุกคามทั้งหมด และมีการแจ้งพนักงานประจำรถ เพียง 14.6%
ดร. วราภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เราสนใจคือปฏิกิริยาของคนรอบข้างที่พบเห็นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศ ซึ่งจากการสำรวจ พบว่ามีผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะถึง 35% หรือ 1 ใน 3 ที่ระบุว่าตนเองเคยเห็นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศเกิดกับผู้โดยสารอื่นร่วมเส้นทาง ซึ่งทางเครือข่ายเราเชื่อว่าคนรอบข้างที่พบเห็นเหตุการณ์นี่แหละ คือผู้ที่จะมีส่วนช่วยหยุดยั้งการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้มาก เราจึงจัดการรณรงค์ “ถึงเวลาเผือก” ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมช่วยกันคิดค้นหาวิธีการแทรกแซง รวมทั้งสร้างทักษะในการแทรกแซงเพื่อหยุดพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่เห็นตรงหน้า และยังเป็นการส่งสารไปถึงผู้ที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศผู้อื่นว่าสังคมเราไม่ยอมรับการกระทำดังกล่าว และจะช่วยกันสอดส่องป้องกันเพื่อลดปัญหาการคุกคามทางเพศ
“จากการพูดคุยกับผู้หญิงที่เคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ เราพบว่าเหตุการณ์การคุกคามที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ประสบเหตุอย่างมาก ทั้งผลกระทบทางจิตใจ คือ ความรู้สึกอึดอัด หวาดกลัว และไม่ปลอดภัยในการเดินทาง และส่งผลต่อการดำเนินชีวิต โดยบางคนถึงกับต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ เส้นทาง หรือช่วงเวลาในการเดินทาง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคุกคามทางเพศ โดยผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่มักระบุตรงกันว่าขณะเกิดเหตุตนเองรู้สึกช็อก ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก ดังนั้น การมีคนรอบข้างเข้าไปช่วย “เผือก” หรือช่วยเหลือ จึงจะช่วยให้ผู้ประสบเหตุหลุดพ้นจากสถานการณ์การถูกคุกคามได้มาก โดยมีวิธีการเผือกที่คนรอบข้างสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทำทีเข้าไปชวนผู้ที่ถูกคุกคามพูดคุย หรือชวนให้ขยับหาที่นั่งหรือที่ยืนในจุดอื่น และการพูดเสียงดังบอกให้ผู้คุกคามหยุดการกระทำ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าไป “เผือก” ก็ต้องประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของตนเองด้วย หากประเมินว่าเข้าไปคนเดียวอาจไม่ปลอดภัย ก็อาจกระซิบบอกผู้โดยสารอื่นให้รับรู้เหตุการณ์และชวนกันเข้าไปแทรกแซง หรือช่วยกันส่งเสียงดัง หรือแจ้งพนักงานประจำรถ การไม่นิ่งเฉยของพวกเราจะช่วยสร้างความปลอดภัยในการเดินทางในเมืองใหญ่แห่งนี้ได้” ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ กล่าว
ขณะที่นางยงค์ ฉิมพลี ตัวแทนจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)กล่าวว่า ในส่วนของการคุกคามทางเพศบนรถโดยสารขสมก.ยอมรับว่าในปัจจุบันยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก จากการปฏิบัติหน้าที่ของตนพบว่า การคุกคามทางเพศบนรถโดยสารนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยตัวเอง การจับของสงวน การยืนเบียดเพื่อสัมผัสอวัยวะ โดยจะพบมากที่สุดในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งนี้ เรื่องความปลอดภัยบนรถขสมก.ขอให้ผู้โดยสารไว้วางใจ เพราะทางเรามีการฝึกเพื่อรับมือในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพบสิ่งพิรุธ เมื่อพบผู้กระทำ เราก็จะไปว่ากล่าวตักเตือน หากมีการยืนเบียด เราก็จะไปกันให้ นอกจากนี้ ยังมีกล้องวงจรปิด ที่ถือเป็นนโยบายของขสมก.สามารถตรวจจับผู้กระทำผิดได้ด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะจำนวนบุคลากรของพวกเราก็ไม่ได้มาก หากประชาชนที่เป็นเพื่อนร่วมทางช่วยกันสอดส่องดูแล ช่วยกันแจ้งเหตุ และช่วยกันหยุดพฤติกรรมการคุกคามที่เกิดขึ้นต่อหน้าก็จะช่วยให้ผู้ถูกคุกคามปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีกด้วย
คุณจรีย์ ศรีสวัสดิ์ ตัวแทนจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าการเดินทางโดยสารด้วยระบบขนส่งมวลชนควรเป็นการเดินทางที่ปลอดภัย และสบายใจ โดยเฉพาะในส่วนของผู้หญิง และเพศทางเลือก ที่ต้องไม่ถูกคุกคามทางเพศ แต่ปัจจุบันนี้ ทั้งในส่วนของผู้หญิงและเพศทางเลือกก็ดี การเดินทางแต่ละครั้งต้องมีความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วน ที่มีการเบียดเสียดภายในรถ ซึ่งผู้กระทำมักใช้โอกาสนี้คุกคามทางเพศ กลายเป็นความเครียดซ้ำเติม จากเดิมที่ต้องเครียดกับเรื่องอื่น ๆ อยู่แล้ว กลายเป็นความเครียดของคนเมือง ทำให้คุณภาพชีวิตต่ำลง สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา สิ่งแรกต้องแก้ที่ทัศนคติ ที่ต้องทำการรณรงค์ประชาสัมพันธ์กันอย่างเข้มข้นว่าการคุกคามทางเพศนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะปัจจุบันนี้ มีเพียงการรณรงค์ให้ผู้หญิงไม่แต่งตัวโป๊ วาบหวิว ซึ่งเป็นการแก้ที่ไม่ตรงจุด
คุณจรีย์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้เราควรรณรงค์ให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเข้มข้นต่อผู้ที่กระทำ ซึ่งเราจะเห็นว่าปัจจุบันกฎหมายของเราเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศในส่วนของกฎหมายอาญาเขียนกว้างไป บอกเพียงการทำอนาจารว่าจะปรับจำนวนเท่านั้น เท่านี้ ทางที่ดี ควรแบ่งชั้นความผิดหรือแก้กฎหมายการคุกคามให้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น หากมีการใช้วาจาส่อเสียด การคุกคามทางสายตา ก็เข้าข่ายความผิดได้ การจับของสงวนที่ไม่พึงประสงค์ รวมไปถึง การคุกคามทางโซเชียลมีเดียที่มีการพิมพ์ข้อความในเชิงเหยียดเพศ คุกคาม ก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน ตรงนี้จะทำให้ผู้ที่กระทำเกิดความเกรงกลัวมากขึ้น
คุณจรีย์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่ต้องแก้ไขถัดมาคือความต่อเนื่องในนโยบายของภาครัฐ เช่นกรณีการติดกล้องวงจรปิด ทราบว่ามีติดเฉพาะในรถขสมก. แต่หากดูในรถร่วมให้บริการ ยังมีติดน้อยมาก อยากให้ภาครัฐมีการกำชับ ทั้งรถร่วมบริการ และรถขสมก.อยู่ในทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งต้องหมั่นรณรงค์และประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นเกี่ยวกับการติดกล้องวงจรปิด เพราะอย่างน้อยก็จะให้ผู้กระทำเกิดความเกรงกลัว
ขณะที่น.ส.วรวรรณ ตินะลา ผู้เคยประสบเหตุการณ์ถูกคุกคามบนรถโดยสารสาธารณะ กล่าวว่า ตนเคยประสบเหตุถูกคุกคามบนรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยเหตุการณ์เกิดช่วงเวลาประมาณ 6 โมงเย็นหลังเลิกงาน ซึ่งเป็นชั่วโมงเร่งด่วน ขณะนั้นเป็นช่วงที่เปลี่ยนขบวนรถบริเวณสถานีสยาม เมื่อเข้าไปในขบวน มีผู้หวังดีเข้ามาสะกิดเราว่ากระโปรงขาด ซึ่งเมื่อเราเหลือบไปเห็นก็รู้สึกตกใจมาก เพราะเห็นกางเกงในด้วย และมั่นใจว่าไม่ใช่การเกี่ยวธรรมดาแน่นอน แต่เป็นรอยกรีดที่เกิดจากมีด จากนั้นพลเมืองดีที่อยู่ในขบวนรถ ต่างช่วยกันนำเข็มกลัดมาช่วยกันกลัดให้นับได้กว่า 30 ตัว
“หลังรู้ว่าตัวเองถูกกรีดกระโปรง รู้สึกช็อกมากว่าเหตุการณ์นี้จะมาเกิดขึ้นกับเราได้อย่างไร เพราะตัวเราเองก็แต่งกายมิดชิด ไม่ได้ตัวตัวโป๊ หรือวาบหวิวแต่อย่างใด จากนั้นก็ไปแจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสถานี เขาแจ้งว่า ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากไม่มีกล้องวงจรปิด ตรงนี้นี่ยอมรับว่า ทำให้เกิดความโมโห และเกิดความเซ็งที่เรารู้สึกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ทำอะไรไม่ได้กับผู้ที่ทำอะไรกับเรา และขณะนั้นไม่คิดที่จะเข้าไปแจ้งความ เพราะเกิดความเครียดและเซ็ง”
น.ส.วรวรรณ กล่าวต่อว่า หลังเกิดเหตุการณ์ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น จากเดิมหลังเลิกงานที่ต้องเดินทางคนเดียว ทุกวันนี้เวลากลับบ้านต้องไปกับเพื่อนทุกครั้ง รวมทั้งเปลี่ยนขบวนรถ ไม่ให้ซ้ำแต่ละวัน ยอมรับว่าหลังเกิดเหตุการณ์ ทำให้ตนรู้สึกหลอนไม่หาย เวลามีใครเดินตามก็เกิดความระแวง โดยมีความคิดว่าทุกวันนี้คนโรคจิตอยู่ใกล้ตัวเรามากยิ่งขึ้น เพราะเพื่อนของเราก็เคยถูกคุกคามเช่นนี้ โดยพบกระโปรงเป็นคราบ คาดว่า มีคนช่วยตัวเองอยู่ใกล้ ๆ โดยไม่ทันรู้ตัว
น.ส.วรวรรณ ยังฝากบอกไปยังเพื่อนผู้หญิงที่เดินทางให้มีความระมัดระวังในตัวเอง เพราะคนเราจิตใจไม่เหมือนกัน อาจเจอคนโรคจิตที่ไหนก็ได้ กรณีคนโรคจิตเขาควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่เราควบคุมตัวเองได้ ขอให้มีสติ หรืออาจไปฝึกศิลปะป้องกันตัวเผื่อไว้ หรือหากใครที่พบเห็นเหตุการณ์ ก็ควรประเมินว่าเราเอาอยู่หรือไม่ หากเอาไม่อยู่ ก็ควรร้องหาคนช่วยเพื่อรวมพลัง หรือคนรอบข้างพบเห็น ถ้าเราประเมินแล้วช่วยได้ก็ช่วย ถ้าช่วยไม่ได้ก็ควรที่จะแจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่อยู่บริเวณนั้น สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรายังรู้สึกไม่โดดเดี่ยวมากเพราะมีคนบนรถรีบเข้ามาดูแลและช่วยเหลือ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีมาก
“หากพูดถึงในแง่นโยบายของภาครัฐในส่วนของความปลอดภัยจากการถูกละเมิด ที่ผ่านมามีเพียงแคมเปญรณรงค์ พอนำมาปฏิบัติจริง กลับไม่เห็นผล เป็นเพียงกระแสชั่วครั้งชั่วคราว ตรงนี้อยากให้ภาครัฐเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงมากกว่าเดิม เพราะที่ผ่านมาโทษเบา อีกทั้งผู้ถูกกระทำก็ไม่กล้าพูด หรือแจ้งความเพราะอาย ทำให้ผู้กระทำผิดได้ใจ” น.ส.วรวรรณกล่าว
ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการจัดงานภาคีเครือข่ายทุกองค์กรได้ร่วมกันอ่านข้อเรียกร้องที่เสนอต่อรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ข้อดังนี้
1. การสอดส่องดูแลความปลอดภัย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในตัวยานพาหนะโดยสาร ป้ายรถหรือท่าเรือโดยสารประจำทาง และสถานีรถโดยสาร ซึ่งจะสามารถช่วยตรวจสอบความเคลื่อนไหวภายในตัวยานพาหนะและบริเวณป้ายรถ ท่าเรือและสถานี และยังสามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด หากมีผู้กระทำการคุกคามทางเพศหรือมิจฉาชีพอื่น ๆ ก่อเหตุใด ๆ บนยานพาหนะโดยสารและบริเวณต่าง ๆ ที่กล่าวถึง พนักงานขับรถและเรือหรือพนักงานเก็บค่าโดยสารหรือผู้ควบคุมศูนย์จะเห็นได้ชัดเจนและสามารถช่วยยับยั้งสถานการณ์ได้ทันท่วงที
2. การแจ้งเหตุการคุกคามทางเพศ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการบริการขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้มีการจัดการเพื่อรองรับการแจ้งเหตุที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่ายและสามารถติดตามผลได้ หากเกิดเหตุคุกคามทางเพศหรือเหตุอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และเมื่อมีการแจ้งเหตุการคุกคามทางเพศ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพนักงานสอบสวนควรปฏิบัติต่อผู้ถูกกระทำอย่างเหมาะสม โดยให้มีการรับฟังอย่างปราศจากอคติ และควรให้มีการดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำผิดอย่างสมควร เพื่อเป็นการป้องกันการกระทำดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีก
3. การอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการบริการขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นให้มีการอบรมพนักงานของหน่วยงานให้สามารถสังเกตพฤติกรรมคุกคามทางเพศต่าง ๆ และมีกระบวนการ ขั้นตอน และแบบแผนปฏิบัติเพื่อยับยั้งและแจ้งเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ