เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 เครือข่ายรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ได้แก่ องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (Actionaid Thailand) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายสลัมสี่ภาค ชมรมพนักงานสอบสวนหญิง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สมาคมเพศวิถีศึกษา และแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ โดยการสนับสนุนของ ศูนย์สร้างสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานกิจกรรมรณรงค์วันสตรีสากล หยุดการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ระหว่างเวลา 09.30-12.30 น. ที่บริเวณ พญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ
เปิดงานด้วยการกล่าวต้อนรับและแนะนำโครงการโดยคุณรุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการโครงการ Action Aid ประเทศไทย บอกเล่าถึงวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ปัญหาการคุกคามทางเพศกับผู้โดยสาร และคนที่ทำงาน พร้อมทั้งผลักดันให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
คุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะสำนัก 9 สสส. กล่าวสนับสุนการทำงานและยินดีที่ สสส. เป็นส่วนหนึ่งกับเครือข่ายที่ร่วมรณรงค์มาตั้งแต่ปี 2553 และเห็นว่า ขสมก . เป็นองค์กรที่มีความตื่นตัวเรื่องนี้มาก ทำมาต่อเนื่องยาวนาน จนมีนโยบาย นวัตกรรมในการจัดการปัญหาในองค์กรชัดเจน
คุณจะเด็จ เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงความสำคัญของปัญหาที่ต้องใช้พันธมิตรในการแก้ปัญหา เพราะแค่หน่วยงานหนึ่งไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ อยากให้งานนี้เป็นงานต้นแบบ ที่จะทำให้หน่วยงานอื่นๆเห็นว่าประเด็นคุกคามทางเพศเป็นประเด็นสำคัญ และช่วยกันขยายผลการทำงานต่อเนื่องต่อไป
หลังการแนะนำโครงการแล้ว เป็นพิธีเปิดงาน โดยได้รับเกียรติจากตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งสาธารณะมากล่าวถึงการทำหน้าที่ขององค์กร
คุณปานจิต จินดาคุณ ผู้ช่วยรองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับงานของกระทรวงโดยตรง และทางกระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหา ที่ผ่านมาก็มีการศึกษา lady taxi การมี lady bogie ในรถไฟ และอนาคตเข้าใจว่าจะมี การติดสติ๊กเกอร์รณรงค์ และวิดีโอ ให้ความรู้กับผู้โดยสารในการจัดการกับการคุกคาทางเพศ และติดกล้องวงจรปิดและตนเองก็จะนำเรื่องนี้ไปขยายกับรัฐมนตรีต่อไป การรณรงค์นี้จะทำให้ผู้หญิง กล้าโวยวายและร้องเรียนมากขึ้น
คุณอารดา อารีวโรดม ผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 3 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวถึงแนวทางการทำงานของ ขสมก. ว่าขสมก. ถือเป็นองค์กรแห่งแรกที่มีนโยบายป้องกัน แก้ไขการคุกคามอย่างจริงจังทั้งส่วนของพนักงานและผู้โดยสาร โดยสิ่งนี้เริ่มต้นจากเมื่อ 8 ปีก่อน และเริ่มทำงานประเด็นนี้ฐานะต้นแบบกับหน่วยงานขนส่งอื่นๆทั้ง รัฐ เอกชน และขยายมาสู่การทำงานกับผู้โดยสารมากขึ้น โดยมีการอบรมพนักงานใหม่ ให้มีความเข้าใจ รู้กลไกการจัดการและซึ่งจะช่วยร้องเรียนให้กับทั้งตัวเองและผู้โดยสาร มาตรการเพิ่มความปลอดภัย โดยทยอยติดตั้งกล้องวงจรปิด หน้าหลังรถ 2,600 คัน ทั่วกรุงเทพ และสุดท้ายหวังว่าทุกหน่วยงานจะช่วยขับเคลื่อนกันต่อเนื่อง ให้ขนส่งสาธารณะนั้นปลอดจากการคุกคามทางเพศ ดั่งสโลแกนเมืองปลอดภัยที่ว่า “ไม่ว่าเส้นทางไหน ต้องถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ไร้การคุกคามทางเพศ”
หลังจากนั้นเป็นเวทีเสวนา “คนกรุงเทพ จะเดินทางปลอดภัย ไร้การคุกคามทางเพศ ได้อย่างไร?”
คุณวราภรณ์ แช่มสนิท แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ หลังจากงานครั้งนี้ที่มุ่งการเสร้างความเข้าใจในประเด็นแล้ว เครือข่ายจะผลักดันกับหน่วยงานระดับนโยบายกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รัฐ หน่วยงานให้บริการขนส่งสาธารณะว่าจะปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยอย่างไร และการทำสื่อรณรงค์สาธารณะต่อไป ก็อยากชักชวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มาร่วมช่วยกัน
คุณจรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ปัญหาการคุกคามทางเพศ ไม่ใช่ปัญหาปัจเจก แต่เป็นปัญหาทางสังคม คิดว่าไม่ควรผลักภาระไปให้ผู้หญิงดูแลตัวเอง และการแก้ไขความเข้าใจอาจต้องทำอย่างต่อเนื่องร่วมด้วยช่วยกันกับทุกภาคส่วน
คุณกุสุมา จันทร์มูล ตัวแทน ขสมก. มองว่า สำหรับ ขสมก. แล้ว พนักงานเก็บค่าโดยสาร ไม่ได้มีหน้าที่เพียงเก็บค่าโดยสารเท่านั้น แต่มีหน้าที่ดูแลผู้โดยสารให้กลับบ้านอย่างปลอดภัยด้วย และเรายังขับเคลื่อนรณรงค์ความเข้าใจให้กับพนักงานในการดูแลผู้โดยสารอยู่ตลอด
คุณนนทจรรย์ ประกอบทรัพย์ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่องทางที่ให้ข้อมูลในเรื่องการคุกคามทางเพศในสังคมยังมีน้อย หลายคนยังไม่เข้าใจว่าการกระทำแบบใดคือการคุกคามทางเพศ และอยากให้ทุกคนตระหนักว่าเป็นปัญหาใกล้ตัว และไม่ว่าเพศไหนหรือใครก็สามารถตกเป็นผู้ถูกกระทำได้
พ.ต.อ. หญิง ฉัตรแก้ว วรรณฉวี ชมรมพนักงานสอบสวนหญิง ขั้นตอนการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชน อาจจะต้องนำประเด็นเรื่อง จริยธรรม ศีลธรรม มาใช้ในคัดเลือกคนด้วย
คุณรุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ในอนาคตเครือข่ายจะมีส่วนของการผลิตสื่อเพื่อสื่อสารสังคม เป็นช่องทางเผยแพร่ความเข้าใจ ผ่านการติดกล้อง และจอทีวีในขนส่งสาธารณะต่าง ๆ เช่น BTS รถเมล์ ที่จะฉายคลิปรณรงค์ให้ความรู้และป้องปรามผู้ที่จะกระทำผิด ซึ่งจะต้องพัฒนาหลายช่องทางต่อไป นอกจากนี้ยังมีช่องทางผ่านรณรงค์ให้ข้อมูลการคุกคามทางเพศหรือรวมถึงเป็นพื้นที่ให้เล่าถึงเหตุการณ์ที่พบเจอได้ที่เพจ “เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง”
นอกจากการสะท้อนมุมมองจากหลายภาคส่วนเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ในงานรณรงค์ครั้งนี้ยังมีกิจกรรมรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ และกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมงานและผู้ที่สัญจรไปมาในบริเวณสถานที่จัดงานได้ร่วมสนุกและได้รับความรู้ไปพร้อม ๆ กันด้วย
ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม ตัวแทนขสมก. ตัวแทนสสส. และตัวแทนเครือข่ายรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เชิญชวนประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเป่านกหวีดเพื่อแสดงพลัง และขึ้นรถโดยสารเพื่อติดสติกเกอร์และผูดพัดรณรงค์ รวมทั้งช่วยกันแจกสื่อรณรงค์กับประชาชนที่ยืนรอรถโดยสารที่บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ละครจำลองสถานการณ์ของทีมเพื่อนอาสา จำลองการคุกคามทางเพศนักเรียนบนรถสาธารณะ ที่มีการดำเนินเรื่องในรูปแบบละครสลับกับการตอบโต้และตั้งคำถามกับผู้ชมว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์เหมือนในละคร ผู้ชมจะแก้ปัญหาอย่างไร? แล้วให้พนักงานเก็บค่าโดยสารที่มาร่วมงาน ขึ้นมาสาธิตขั้นตอนในการจัดการเมื่อเกิดการคุกคามทางเพศกับผู้โดยสาร
บูธกิจกรรม เกมสนุก ๆ ให้ร่วมเล่นแล้วยังได้รับความรู้จากการตอบคำถามที่เป็นความรู้เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ เพื่อลุ้นรับของที่ระลึกที่เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงนำมาแจกให้ผู้ร่วมเล่นเกม
แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ได้ร่วมออกบูธกิจกรรมในงานรณรงค์ครั้งนี้ด้วย โดยการทำบอร์ดสำรวจสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งในบอร์ดจะให้ผู้เข้าร่วมงานได้กรอกข้อมูลเบื้องต้นว่าเป็นเพศอะไร แล้วจึงเข้าสู่การสำรวจว่าเคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามบนระบบขนส่งสาธารณะในลักษณะใดบ้าง และให้แสดงความคิดเห็นว่าเราต้องการระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยจากภัยทางเพศ เพราะอะไร?
ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนในบอร์ดสำรวจมองว่าระบบขนส่งสาธารณะมีความปลอดภัยและไม่ปลอดภัยในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เมื่อถามว่าเคยถูกคุกคามในรูปแบบใดบ้าง ส่วนใหญ่เคยถูกจับเนื้อต้องตัวและเสียดสีร่างกาย และเคยถูกจ้องมองร่างกายบนรถสาธารณะ เมื่อถามว่าต้องการระบบขนส่งสาธารณะที่มีความปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศหรือไม่ ทั้งหมดตอบว่าต้องการ และเหตุผลที่ให้ ตัวอย่างเช่น
“ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย”
“เพราะมีความจำเป็นต้องเดินทางบ่อย ๆ”
“อยากมีความปลอดภัย ห่วงลูกหลานมากด้วย”
“อยากได้ความปลอดภัยกับทุกระดับที่เกี่ยวกับการเดินทางของผู้หญิง”